Living in Thailand - เวียงหนองหล่ม เวียงหนองหล่ม  
เวียงโยนกนาคพันธุ์สิงหลวัติ


เรื่องราว เวียงหนองหล่ม โพสท์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ไม่ได้เก็บสถิติเข้าชมทั้งหมด ประเมินว่าไม่ต่ำกว่า 250,000 ครั้ง ไม่นับรวม เรื่องราวเกาะแม่ม่าย .. เวียงปรึกษา .. เมืองโบราณเชียงแสน เฉพาะเดือนตุลาคม ๒๕๖๕ มีผู้เข้าชม เวียงหนองหล่ม ๕,๔๒๐ ครั้ง ... ขอบคุณที่ให้ความสนใจ
............................................................................................
เพิ่มเติม    

จากแผ่นป้ายประวัติวัดพระธาตุผาเงา ชี้ให้เห็นว่า เวียงโยนกนาคพันธุ์ มีมายาวนานกว่าสองพันปี

ขุนผาพิง เจ้าผู้ครองนครโยนกองค์ที่ 23 สร้างองค์พระธาตุขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 494 - 512

ถ้าดูจากองค์พระธาตุต่างๆ ที่นำมาบรรจุไว้ในองค์เจดีย์หลายแห่งในภาคเหนือตอนบน หลายองค์มีประวัติความเป็นมากว่าสองพันปี หรือวัดบางวัดก็มีประวัติความเป็นมาเข่นกัน ยกตัวอย่างวัดพระแก้ว หรือวัดป่าเยียะ (ป่าไผ่) ที่เมืองเชียงราย เชื่อกันว่ามีมาก่อนปี พ.ศ. 300

หลังจากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสวรรคต การเผยแพร่คำสั่งสอนของพระองค์ก็ได้มีการแพร่กระจายไปทั่วทุกสารทิศ และประเทศไทยตอนบนก็เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จะเห็นได้จากวัดวาอารามต่างๆ มากมายในจังหวัดเชียงราย เฉพาะเขตเมืองเชียงแสนก็มีประมาณ 74 วัด องค์เจดีย์ที่บรรจุพระธาตุก็มีอยู่หลายวัด

วัดพระธาตุผาเงา
............................................................................................
เวียงหนองหล่ม (ล่ม)    

หรือเมืองโบราณในอดีตที่ล่มสลายเมื่อประมาณ 1,500 ปี

เวียงโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติ
หรือ เมืองนาคพันธุ์สิงหนวัตินคร
หรือ อาณาจักรโยนกไชยบุรีศรีช้างแสน (หรือช้างแส่ง)
หรือโยนกนครราชธานีศรีช้างแสน
ชื่อทั้งหมดที่ใช้เรียกกันก็คือ เมือง "นาคพันธุ์สิงหนวัติ" ในตำนานโยนก

บริเวณหนองน้ำห่างจากทะเลสาบเชีงแสนไปทางใต้ เชื่อกันว่าเคยเป็นที่ตั้งเมืองโบราณ
เวียงโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติ ก่อนที่จะล่มสลายไปเมื่อประมาณ 1,500 ปี

เรื่องราวของ เวียงหนองล่ม เคยอ่านในหนังสือพิมพ์ เม็งราย ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น
ตีพิมพ์เมื่อ 12 ปีก่อน ถ่ายทอดมาลงในเว็บไซท์เมื่อประมาณ 11 ปีก่อน
ตอนนั้นอินเตอร์เน็ตยังไม่บูมเหมืองปัจจุบัน จึงไม่มีการหาข้อมูลเพิ่มเติม แต่หนังสือพิมพ์
เม็งราย ก็เขียนเรื่อง เวียงหนองหล่ม ไว้ดี

ปัจจุบันมีข้อมูลมากมายให้อ่านในเว็บไซท์ต่างๆ มีทั้งข้อมูลเก่าและข้อมูลใหม่ที่บางข้อมูล
ไม่สามารถอธิบายในเชิงโบราณคดี หรือเชิงประวัติศาสตร์ได้

ก็มาเจอข้อมูลในเว็บไซท์ของจังหวัดเชียงราย ที่แปลมาจากเรื่องราวที่บันทึกไว้ในใบลาน
สมัยนั้น เรียบเรียงไว้อย่างละเอียด ถ้าข้อมูลที่นี่ไม่ถูกต้องก็ไม่ต้องไปหาอ่านที่อื่นอีกแล้ว

http://www.chiangrai.net/cpwp/?page_id=60

ควรแวะชมและศึกษาวัตถุโบราณที่พิพิธภัณฑ์สถานเชียงแสนควบคู่กับเรื่องราวที่อ่านใน
เว็บไซท์จังหวัดเชียงราย จะได้ภาพเรื่องราวในอดีตและความเป็นมาของจังหวัดเชียงราย
ที่ถูกต้อง น่าศึกษา เพราะว่า ที่นี่คือถิ่นกำเนิดของชนชาติไทยในประเทศไทย

ผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศบางท่านอาจเห็นต่างในหัวข้อ "คนไทยมาจากไหน"
เรื่องราวที่มีมาแต่โบราณของภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะที่เชียงแสน ชี้ชัดว่า
การอพยพหรือย้ายถิ่นฐานของชนหลายกลุ่มจากบริเวณแถบตะวันตกและทางตอนใต้ของ
ประเทศจีน รวมทั้งชุมชนที่เรียก "ไท" เช่น ไทลื้อ ไทเขิน เป็นต้น หรือคำว่า "ลาว"
กษัตริย์ไทยพระนามว่า ลาวจก (หรือลาวจง) ปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์จังกราช
หรือลาวเมง (กษัตริย์ผู้ครองเชียงแสน)

ที่เขียนข้างล่างเป็นส่วนย่อที่อ่านจากเว็บไซท์สิบกว่าแห่ง สารานุกรมอิสระ (wikipaedia)
อีก 3 หน้า และหนังสือพิมพ์เก่าที่ตีพิมพ์ไว้กว่าสิบปี อีก 2 ฉบับ
ก็ใช้เวลาอยู่ประมาณเดือนกว่า ก่อนที่มาเจอข้อมูลจากเว็บไซท์ของจังหวัดเชียงราย

ในประวัติ จ.เชียงราย กล่าวไว้ว่า

เจ้าสิงหนวัติกุมาร โอรสพระเจ้าเทวกาล กษัตริย์เมืองหนองแส เป็นชั้นหลานปู่ของขุนบรม ได้อพยพคนไทยประมาณแสนครัวจากหนองแส (ตาลิฟู) ลงมาสร้างเมืองขึ้นใหม่อีกให้มั่นคงถาวรยิ่งขึ้น แล้วขนานนามว่า เมืองนาคพันธุสิงหนวัตินคร ภายหลังเรียกสั้น ๆ ว่า นาเคนทร์นคร, นาคบุรี, โยนกนาคนคร และโยนกนครหลวง เป็นต้น (คือเมืองเชียงแสนในปัจจุบัน)

ก็หมายความว่า เมืองนาคพันธุสิงหนวัติ ไม่ได้อยู่ที่บริเวณเวียงหนองล่ม?
อาจจมอยู่ในทะเลสาบเชียงแสน?

..........................

เมื่อช่วงปลายพุทธศัตวรรษที่ 10 - 18 ได้เกิดชุมชนอพยพหรือย้ายถิ่นฐานจากทางเหนือ
ลงมาตั้งถิ่นฐานบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขงตั้งแต่สิบสองปันนาลงไปถึงเมืองหริภุญชัย
(จ.ลำพูน) และกระจัดกระจายตามลุ่มน้ำต่างๆ เช่น ลุ่มแม่น้ำกก แม่น้ำอิง แม่น้ำปิง
แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน

ตำนานพงศาวดารโยนก

ตำนานโยนกกล่าวถึงเมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติ ไว้ว่า เจ้าชายสิงหนวัติ พาไพร่พล
ออกจากเมืองราชคฤห์ เดินทางลงมาทางตะวันออกเฉียงใต้ได้สี่เดือน พบที่ราบกว้าง
ไม่ห่างไกลจากลำน้ำโขง มีลำน้ำเล็กใหญ่และลำห้วยเหมาะต่อการทำไร่ทำนา
เจ้าชายสิงหนวัติจึงได้สร้างเมืองบริเวณนี้ และตั้งชื่อว่า "เมืองพันธุ์สิงหนวัตินคร"

อาณาจักรโยนก มีกษัตริย์ปกครองต่อเนื่องถึง 46 พระองค์ องค์สุดท้ายคือ "มหาไชยชนะ"
ก็ถึงกาลล่มสลาย ตามที่ตำนานเล่าขานว่า เพราะชาวเมืองกินปลาไหลเผือก

ตำนานเล่าขานเวียงหนองหล่ม (ล่ม)

จากตำนานเล่าขานที่มีมาแต่โบราณเล่ากันมาว่า (ขอเล่าต่อเพียงแค่สีงเขป)

วันหนึ่งชาวเมืองเล่นน้ำกันอยู่ที่แม่น้ำ พบปลาไหลเผือกตัวโตเท่าลำตาล จึงช่วยกันจับนำมา
ถวายเจ้าเมือง เจ้าเมืองให้ตัดเป็นชิ้นแบ่งกันกิน ชาวบ้านได้นำไปแบ่งกันกินทั้งเมือง
มีเพียงแม่ม่ายคนเดียวที่ไม่ได้กิน

ตกค่ำคืนนั้นก็เกิดอาเพศ ท้องฟ้ามืดมน เกิดเสียงดังสนั่นสั่นสะเทือนปานปฐพีจะล่มสลาย
สามครั้ง ถึงยามฟ้าสางเมืองนาคพันธึ์สิงหนวัติก็ล่มสลายกลายเป็นหนองน้ำใหญ่
เหลือเพียงบ้านแม่ม่ายคนเดียว ปัจจุบันเรียกว่า "เกาะแม่ม่าย"

ตำนานเล่าขานเชื่อกันว่า เหตุเพราะชาวเมืองกินปลาไหลเผือกจึงทำให้เกิดอาเพศ
เมืองทั้งเมืองจึงล่มสลาย เหลือแต่แม่ม่ายคนเดียวที่ไม่กิน

เหตุที่แม่ม่ายไม่ได้รับส่วนแบ่งก็เพราะว่า ในสมัยนั้นถือว่าแม่ม่ายเป็นคนในระดับต่ำ คล้ายๆ กาลกิณี

บางตำนานเล่าขานบอกว่า สาเหตุที่แม่ม่ายไม่ได้กิน ก็เพราะว่า แม่ม่ายไม่มีลูกหลานไปรับส่วนแบ่ง

อย่างไรก็ตาม ตำนานเล่าขานนี้มีมาแต่โบราณนับร้อยหรือหลายร้อยปีตามความเชื่อ
หรือเข้าใจ เรื่องราวจึงอาจแตกต่างกันไป เช่น

เรื่องพญานาคจำแลงเป็นปลาไหลเผือก ชาวเมืองกินเป็นอาหารจึงทำให้เกิดอาเพศ และ
ที่แม่ม่ายรอดก็เพราะไม่ได้กิน เรื่องเล่านี้ก็ไปสอดคล้องกับเรื่องการสร้างเมือง ที่ว่า
ระหว่างที่เจ้าชายสิงหนวัติหาที่สร้างเมืองอยู่ ได้พบกับพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่า "พันธุพราหมณ์ "
ซึ่งเป็นพญานาคจำแลงมา ได้บอกเจ้าชายสิงหนวัติว่า ที่นี้เป็นที่ควรแก่การสร้างเมือง
เจ้าชายสิงหนวัติจึงสร้างเมืองตรงนั้นและให้ชื่อเมืองว่า "นาคพันธุ์สิงหนวัติ"
และก็ไปสอดคล้องกับเรื่องเล่าที่ว่า พญานาคจำแลงมาเป็นปลาไหลเผือก

อีกเรื่องที่มีการเล่ากันต่อมาว่า ที่ชาวเมืองนาคพันธึ์สิงหนวัติจับได้นั้น เป็น "ปลา"
เรื่องเล่านี้ก็ไปสอดคล้องกับ "ปลาบึก" ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง
ปลาบึกเป็นปลาน้ำจีดที่มีขนาดใหญ่มาก ชาวประมงแถบเชียงแสนเคยจับได้ขนาด
น้ำหนัก 200 กิโลกรัม สมัยก่อนอาจมีน้ำหนักมากกว่านั้นเหตุเพราะยังไม่มีการล่า
ก็พอจะหั่นเป็นชิ้นส่วนกินกันได้ทั่วเมือง

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นปลาไหลเผือกหรือปลาตัวโต เรื่องเล่าที่มีมาแต่โบราณนี้
มีสถานที่ยืนยันตามตำนานเล่าขาน เช่น บ้านแม่ลาก ซึ่งเป็นบริเวณที่ชาวบ้านช่วยกันลาก
ปลาไหล (หรือปลา) บ้านแม่ลัว (ที่เข้าใจว่าเพี้ยนมาจากคำว่า คัว) หมายถึงบริเวณที่
ชาวบ้านชำแหละปลาไหลเป็นชิ้นๆ แจกจ่ายกัน บ้านแม่ลากและบ้านแม่ลัว อยู่ในตำบล
ท่าข้าวเปลือก อำเภอแม่จัน

ถ้าเป็นเช่นนั้น เวียงหนองล่มก็น่าจะตั้งอยู่ที่บริเวณหนองน้ำใหญ่
แทนที่จะเป็นบริเวณใกล้เกาะแม่ม่าย

เวียงหนองล่ม

เมื่อดูในแผนที่จะเห็นว่า บ้านแม่ลาก บ้านแม่ลัว อยู่ใกล้หนองน้ำใหญ๋ ห่างจากเกาะแม่ม่าย
ก็น่าจะสอดคล้องกับ เหตุที่แม่ม่ายไม่ได้กินปลาไหลก็เพราะว่า ไม่มีลูกหลานไปรับส่วนแบ่ง
(แม่ม่ายอาจเป็นผู้เฒ่า เดินทางไกลไม่ได้)

ทางกรมศิลปากรได้มีการสำรวจในทางโบราณคดีรอบบริเวณหนองน้ำ รวมทั้งการสำรวจ
ใต้หนองน้ำ เมื่อปี พ.ศ. 2537 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะหนองน้ำกว้างใหญ่มาก
สิ่งที่กรมศิลปากรพบเป็นเพียงชิ้นส่วนบ่งชี้ว่า บริเวณแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งชุมชน

เวียงโยนกนาคพันธุ์ล่มสลายเพราะเกิดแผ่นดินไหว ?

เวียงหนองล่ม

จากแผนที่ธรณีวิทยา จะเห็นว่าทะเลสาบเชียงแสน เกาะแม่ม่าย และหนองน้ำที่ชาวบ้าน
เชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งเวียงโยนก อยู่ใกล้รอยเลื่อนแม่จันมาก
รอยเลื่อนแม่จันมีความยาวตั้งแต่ อ.ฝาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ พาดผ่าน
อ.แม่จัน อ.เชียงแสน อ.เชียงของ จ.เชียงราย และยาวไปจนถึงประเทศลาว

กรมทรัพยากรธรณียังได้กล่าวถึงรอยเลื่อนแม่จันว่า มีพลังทำให้เกิดแผ่นดินไหวในระดับ
7 ริกเตอร์ได้

ถ้าเวียงโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติล่มสลายเพราะแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ การคันหา
เวียงหนองล่ม จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก เวียงโยนกอาจไม่เหลือซากให้เห็น
เพราะบริเวณหนองน้ำเป็นที่ลุ่ม เวียงโยนกอาจจมอยู่ใต้ดิน รวมทั้งตะกอนดินและวัชพืช
ทับถมเป็นเวลากว่าพันปี ก็ยากที่จะค้นหา

ตัวอย่าง เวียงกุมกาม (ปัจจุบัน อำเภอสารภี จ.เชียงใหม่) ที่นี่ไม่ได้เกิดจากแผ่นดินไหว
แต่เกิดจากอุทกภัยซ้ำซาก ทำให้ตะกอนดินทับถมกว่า 2 เมตรในระยะเวลา 700 ปี

ทางกรมศิลปากรคงต้องทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากเพื่อค้นหาเวียงโบนกนาคพันธึ์
ที่อาจจะพบเพียงแค่ซาก หรือกองอิฐเท่านั้น

ถ้าใครสนใจจะเป็นเจ้าภาพในการค้นหา ทางกรมศิลปากรก็ยินดีค้นหาให้
งบประมาณน่าจะอยู่ในระดับร้อยล้าน

 
เกาะแม่ม่าย
เกาะแม่ม่าย
วัดธาตุเขียว
เวียงปรึกษา
หิรัญนครเงินบางเชียงแสน
หิรัญนครเงินยางเชียงแสน
 
 
วัดพระธาตุผาเงา  
วัดพระธาตุผาเงา  
     
เกาะแม่ม่าย วัดป่าหมากหน่อ  

ประวัติย่อ วัดป่าหมากหน่อ (จากแผ่นพับของวัด)

วัดป่าหมากหน่อ ที่เรียกชื่อนี้คงเป็นเพราะสม้ยก่อนมีผู้พบเห็นต้นหมากเล็กๆ เรียกเป็นคำ
เมืองว่า หมากหน่อ ขึ้นอยู่บนเกาะนี้จำนวนมาก แต่่ต่อมาก็สูญพันธุ์ไปหมด

เดิมทีวัดป่าแห่งนี้เป็นโบราณสถานที่เคยเป็นวัดมาแต่อดีตตกาลเพราะพบหลักฐานโบราณ
วัตถุหลายชิ้น บ่งบอกว่าเป็นวัดมาก่อน เช่น ซากเจดีย์ เนินวิหาร หรืออุโบสถ และบ่อน้ำ
สำหรับสรงพระเจดีย์ เศษอิฐโบราณ เศษเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมาก และพบพระพุทธรูป
หลายองค์ วัดแห่งนี้เป็นวัดร้างตั้งแต่สมัยเชียงแสนหรือโยนก บริเวณของวัดเป็นเกาะอยู่ติด
กับหนองน้ำกว้างใหญ่เรียกกันว่า หนองหลวง หรือ เมืองหนอง บ้างก็เรียกว่า เวียงหนอง
หรือ เวียงหนองหล่ม

เวียงหนองหล่ม ตั้งอยู่ระหว่างเขต ต.โยนก อ.เชียงแสน กับ ต.จันจว้า อ.แม่จัน จากตำนาน
และพงศาวดารหลายเล่มกล่าวตรงกันว่า เจ้าชายสิงหนวัติพาผู้คนมาหาที่ตั้งเมือง พอมาถึง
แม่น้ำโขงก็พบนาคจำแลงเป็นชายมาบอกสถานที่สร้างเมือง จึงตั้งเมืองโดยเอาชื่อองค์ผู้
สร้างรวมกับนาคชื่อว่าเมือง โยนกนาคพันสิงหนวัติ หรือ โยนกนครหลวง

จากนั้นนครโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติก็รุ่งเรืองต่อเนื่องมายาวนานกว่า ๔๕๐ ปี จนกระทั้ง
สมัยรัชกาลของพญามหาไชยชนะกษัตริย์ องค์ที่ ๔๕ กาลอวสานก็มาถึง เมื่อวันหนึ่ง
ชาวบ้านจับ ปลาไหลเผือก มีขนาดตัวโตเท่าลำตาล ยาวประมาณ ๗ วาเศษ ได้จาก
แม่น้ำกก และได้นำมาถวายพญามหาไชยชนะ พระองค์รับสั่งให้นำเนื้อไปแล่แจกจ่าย
ให้กับชาวเมืองทุกคน มีเพียงหญิงชราแม่ม่ายคนหนึ่งเท่านั้นที่ไม่ได้รับส่วนแบ่งเนื้อปลา
ซึ่งสมัยก่อนจะถือว่าหญิงม่ายเป็นคนที่อยู่ในระดับต่ำ คล้ายๆ จะเป็นกาลกิณี จึงไม่ให้กิน
และเมื่อถึงเวลาค่ำก็มีเสียงแผ่นดินดังสนั่นหวั่นไหว แล้วก็เงียบสงบลง พอถึงกลางคืนก็มี
ดังมาอีกเป็นครั้งที่สองแล้วก็เงียบไปอีก แล้วพอใกล้รุ่งก็ดังมาอีก คราวนี้ดังยิ่งกว่าทุกครั้ง
เมื่อนั้นเมืองโยนกนครหลวงก็ยุบลงเกิดเป็นนทีหนองน้ำใหญ่ คนทั้งหลายในเวียงนั้นรวมถึง
กษัตริย์เจ้าเลยวินาศฉิบหายจมลงในน้ำทั้งหมด แต่ทว่า ยังคงค้างอยู่แต่เรือนของหญิง
ชราม่ายหลังเดียวเท่านั้น

ก่อนค่ำที่มีเสียงแผ่นดินดังสนั่นหวั่นไหวนั้น ได้มีชายหนุ่มคนหนึ่งมาที่เรือนของหญิงชรา
ม่าย ชายหนุ่มถามว่า ชาวเมืองที่นี้เขาเอาอะไรมาทำกินถึงได้หอมทั่วทั้งเมือง หญิงชราม่าย
ตอบว่า เขาได้ปลาไหลเผือกมาและได้แจกจ่ายกินกันทั้งเมือง ชายหนุ่มถามอีกว่า ย่าได้กิน
กับเขาบ้างไหม หญิงชราม่ายตอบว่า ย่านี้เป็นคนแก่แม่ม่ายไม่มีใครเอามาให้กินหรอกหลาน
เอ๋ย แล้วชายหนุ่มก็บอกว่า ไม่ได้กินก็ดีแล้ว แล้วย้ำอีกว่า ถ้ามีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นถ้าไม่เห็น
หน้าหลานนี้อย่าได้ลงจากเรือนเป็นอันขาด ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว
ซึ่งหญิงม่ายก็ตกใจกลัว มีหลายครั้งที่หญิงม่ายจะเปิดประตูเรือนออกมาแต่นึกได้ถึงคำพูด
ของชายหนุ่มที่บอกไว้ จนเสียงครั้งสุดท้ายซึ่งดังมากว่าทุกครั้งหญิงม่ายก็กลัวยิ่งนักจึงได้
ตัดสินใจเปิดประตูเรือนออกมาก็ได้เห็นว่าเมืองนั้นกลายเป็นหนองน้ำไปเสียแล้ว
และด้วยเหตุนี้จึงได้เรียกเกาะแห่งนี้ว่า เกาะแม่ม่าย ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดในเวลาต่อมา
และได้ทราบชื่อหญิงชราม่ายในภายหลังว่า เจ้าแม่บัวเขียว

เกาะแม่ม่ายได้สร้างขึ้นเป็นวัดเมื่อใดและถูกทอดทิ้งไว้ร้างนานเท่าใดยังไม่สามารถบอกได้
จนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ ได้มีสามเณรรูปหนึ่งได้ธุดงค์มาบำเพ็ญสมณธรรมอยู่บริเวณนี้และได้
นิมิตดีจึงได้ทำการบูรณะให้เป็นวัดขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง สามเณรรูปนี้เป็นที่เคารพนับถือ
ของชาวพุทธภาคเหนือในนาม พระหน้อย มีชื่อจริงว่า สามเณรบุญชุ่ม ทาแกง ท่านได้
สร้างกุฏิกรรมฐานหลังหนึ่ง โรงครัวหลังหนึ่ง ห้องน้ำหลังหนึ่ง โดยตั้งชื่อวัดว่า
วัดหนองตุ่มคำ (โอ่งทอง)
พอถึงปี พ.ศ.๒๕๒๔ ท่านก็ได้ธุดงค์ต่อไปยังวัดพระนอนประเทศพม่า และได้อุปสมบทเป็น
พระภิกษุประจำอยู่ที่วัดพระธาตุดอนเรืองประเทศพม่าในเวลาต่อมา ปัจจุบันเป็นที่รู้จักของ
ชาวพุทธในนาม ครูบาบุญชุ่ม ญาณสัวโร หลังจากนั้นวัดก็ถูกทอดทิ้งให้ร้างอีกครั้งหนึ่ง

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๗ มีพระธุดงค์องค์หนึ่งมาจำพรรษาอยู่วัดนี้อีกครั้ง ท่านมีนามว่า
พระอาจารย์สมศักดิ์ กิติธัมโม ท่านได้นำคณะศรัทธาบ้านห้วยน้ำรากและหมู่บ้านใกล้เคียง
สร้างพระประธานของวัดขึ้นองค์หนึ่ง ตั้งชื่อว่า พระพุทธทศพลญาณ ในขณะเดียวกันก็ได้
เปลี่ยนชื่อวัดขึ้นใหม่ชื่อว่า วัดป่าหมากหน่อ และในปีนั้นเองก็ได้นำคณะศรัทธาสร้างทาง
ข้ามหนองน้ำเข้าสู่วัด หลังจากสร้างเสร็จแล้วท่านยังได้นำคณะศรัทธาขุดบ่อน้ำสำหรับ
อุปโภคบริโถคด้วย จนถึงปี พ.ศ.๒๕๒๘ ท่านได้ธุดงค์ต่อไปยังที่อื่นปล่อยให้วัดร้างอยู่
อีกเป็นเวลา ๕ เดือน

ต่อมาในปีเดียวกัน ได้มีสามเณรรูปหนึ่งได้ธุดงค์มาประจำอยู่วัดนี้ ท่านมีนามว่า
สามเณรพันธ์ธิพย์ แสงคำ เมื่อมาประจำอยู่ได้ ๓ คืนก็มีญาติโยมขึ้นไปทำบุญที่วัด
และนิมนต์ให้อยู่จำพรรษาที่วัดนี้ ท่านก็รับนิมนต์และตั้งใจว่าจะอยู่เพียงพรรษาเดียวเท่านั้น
แต่เมื่อได้อยู่พรรษาหนึ่งแล้วญาติโยมก็นิมนต์ให้อยู่ต่อเรื่อยมาและได้มีพระภิกษุสามเณร
จากที่อื่นมาจำพรรษาทุกปีและในขณะเดียวกันก็มีญาติโยมมาถือศิลปฏิบัติธรรมอยู่เป็น
ประจำทุกปีมิได้ขาด พร้อมกันนี้ก็ได้นำคณะศรัทธาก่อสร้างสาสนะถาวรวัติถุต่างๆ เช่น
กุฏิกรรมฐาน ศาลาปฏิบัติธรรม พระเจดีย์ พระธาติโยนกนคร และก่อสร้างพระวิหาร
เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระประธานของวัดคือ พระพุทธทศพลญาณ และเพื่อใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญบุญของญาติโยมชาวพุทธสืบไป

เวียงหนองล่ม

 

 

พระมหาชัยนันต์ โชติปญโญ เจ้าอาวาส  
วัดป่าหมากหน่อ
วัดป่าหมากหน่อ
พระธาตุ โยนกนครแสงคำ
วัดป่าหมากหน่อ
วัดป่าหมากหน่อ
อุโบสถวัดป่าหมากหน่อ
วัดป่าหมากหน่อ
วัดป่าหมากหน่อ
วัดป่าหมากหน่อ
หินแกะสลักพบในบริเวณ
 
เวียงปรึกษา - ชุมชนหลังการล่มสลายของเวียงโยนก  
     
หิรัญนครเงินยางเชียงแสน  
     
     
     
     
All Rights Reserved    
admin@livinginthailand.com