Living in Thailand

พระราชบัญญัติ

 

   
   

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
พ.ศ. ๒๕๖๑


บทเฉพาะกาล

 

มาตรา ๙๐

  • ในวาระเริ่มแรก ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำ นวนสองร้อยห้าสิบคน
    ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ โดยในการสรรหาและ
    แต่งตั้งให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้

(๑) ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่งซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้ง
จากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ และมีความเป็นกลางทางการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่า
เก้าคนแต่ไม่เกินสิบสองคน มีหน้าที่ดำเนินการสรรหาบุคคล ซึ่งสมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามหลักเกณฑ์
และวิธีการ ดังต่อไปนี้

(ก) ให้คณะกรรมการดำเนินการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามวิธีการที่บัญญัติไว้
ในมาตรา ๙๑ มาตรา ๙๒ มาตรา ๙๓ มาตรา ๙๔ มาตรา ๙๕ และมาตรา ๙๖ จำนวนสองร้อยคน
โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกตามกฎหมายประกอบ
รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน แล้วให้จัดทำเป็นบัญชีรายชื่อ
เสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยแยกผู้ได้รับเลือกตามกลุ่มและตามวิธีการสมัคร

(ข) ให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา คัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม
ในอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาและการปฏิรูปประเทศมีจำนวนไม่เกินสี่ร้อยคน
ตามวิธีการที่คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภากำหนด แล้วนำรายชื่อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่ช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดตาม (ก)

(ค) ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติคัดเลือกผู้ได้รับเลือกตาม (ก) จากบัญชีรายชื่อที่ได้รับ
จากคณะกรรมการตามมาตรา ๙๘ และให้คัดเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหาตาม (ข) ให้ได้จำนวนหนึ่งร้อยเก้าสิบสี่คนรวมกับผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
เป็นสองร้อยห้าสิบคน และคัดเลือกรายชื่อสำรองจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหาตาม (ข) จำนวนห้าสิบคน
ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายในสามวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก
ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

(๒) มิให้นำความในมาตรา ๑๔ (๒๓) ในส่วนที่เกี่ยวกับการเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาใช้บังคับ
แก่ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับสรรหาตาม (๑) (ข) และมิให้นำความในมาตรา ๑๔ (๑๙)
มาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง

(๓) ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาตินำรายชื่อบุคคลซึ่งได้รับการคัดเลือกตาม (๑) (ค)
จำนวนสองร้อยห้าสิบคนดังกล่าวขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป
และให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

(๔) อายุของวุฒิสภาตามมาตรานี้มีกำหนดห้าปีนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง สมาชิกภาพ
ของสมาชิกวุฒิสภาเริ่มตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ถ้ามีตำแหน่งว่างลง ให้เลื่อนรายชื่อบุคคล
ตามลำดับในบัญชีสำรองตาม (๑) (ค) ขึ้นเป็นสมาชิกวุฒิสภาแทน โดยให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ดำเนินการ
และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ สำหรับสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่งเมื่อพ้นจากตำแหน่ง
ที่ดำรงอยู่ในขณะได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาก็ให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาด้วย และให้ดำเนินการ
เพื่อแต่งตั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่งแทน ให้สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับแต่งตั้ง
ให้ดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่าง อยู่ในตำแหน่งเท่าอายุของวุฒิสภาที่เหลืออยู่

(๕) ในระหว่างที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลในบัญชีสำรองขึ้นเป็นสมาชิกวุฒิสภาแทน
ตำแหน่งที่ว่างตาม (๔) หรือเป็นกรณีที่ไม่มีรายชื่อบุคคลเหลืออยู่ในบัญชีสำรอง หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง
ที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่

(๖) เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลงตาม (๔) ให้ดำเนินการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามพระราชบัญญัติ
ประกอบรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา ๙๑

  • ในวาระเริ่มแรก สำหรับการดำเนินการตามมาตรา ๙๐ (๑) (ก) ให้กลุ่มตาม
    มาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง มีสิบกลุ่ม ประกอบด้วย

(๑) กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อันได้แก่ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ
หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(๒) กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ
อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(๓) กลุ่มการศึกษาและการสาธารณสุข อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหาร
สถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา แพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร
หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(๔) กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่น ๆ
ในทำนองเดียวกัน

(๕) กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐผู้ใช้แรงงาน
ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(๖) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค
ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่น ๆ
ในทำนองเดียวกัน

(๗) กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นและผู้ประกอบ
กิจการอื่น ๆ ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว อันได้แก่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์
ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม ผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(๘) กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม
องค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(๙) กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์
วรรณกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(๑๐) กลุ่มอื่น ๆ

  • การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศ
    กำหนด
  • ผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔ ย่อมมีสิทธิสมัครใน
    กลุ่มอื่น ๆ ตาม (๑๐) ได้

มาตรา ๙๒

  • ในวาระเริ่มแรก ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มตามมาตรา ๙๑ อาจสมัครได้โดยวิธีการ
    ดังต่อไปนี้

(๑) สมัครโดยยื่นใบสมัครด้วยตนเอง

(๒) สมัครโดยยื่นใบสมัครด้วยตนเองพร้อมแสดงหนังสือแนะนำชื่อผู้สมัครจากองค์กรตามมาตรา ๙๓
แนบมาพร้อมกับใบสมัครด้วย

  • ให้ผู้สมัครแต่ละคนมีสิทธิสมัครเพื่อเข้ารับเลือกในกลุ่มตามมาตรา ๙๑ ได้เพียงกลุ่มเดียว และ
    สมัครโดยวิธีการตามวรรคหนึ่งได้เพียงวิธีการเดียว รวมทั้งมีสิทธิสมัครได้เพียงอำเภอเดียว และเมื่อได้ยื่น
    ใบสมัครแล้วจะถอนการสมัครมิได้
  • ผู้ใดสมัครเข้ารับเลือกมากกว่าหนึ่งกลุ่ม มากกว่าหนึ่งวิธีการ หรือมากกว่าหนึ่งอำเภอ อันเป็น
    การไม่ปฏิบัติตามวรรคสอง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๗

มาตรา ๙๓

  • องค์กรซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีและมิได้
    มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรมาแบ่งปันกันหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และได้ดำเนินการ
    ตามวัตถุประสงค์ขององค์กรมาอย่างต่อเนื่อง และองค์กรที่มีกฎหมายจัดตั้ง มีสิทธิแนะนำชื่อผู้ซึ่งเป็นหรือ
    เคยเป็นสมาชิกขององค์กร หรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่หรือเคยปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรตามระยะเวลาที่คณะกรรมการ
    กำหนด ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
    เพื่อสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาองค์กรละหนึ่งคนในแต่ละจังหวัดโดยต้องระบุอำเภอไว้ด้วย และ
    เมื่อได้แนะนำชื่อผู้สมัครแล้วจะถอนหรือเปลี่ยนชื่อผู้ซึ่งได้แนะนำแล้วมิได้
  • องค์กรตามวรรคหนึ่งต้องลงทะเบียนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด และให้
    เลือกกลุ่มตามมาตรา ๙๑ ได้เพียงกลุ่มเดียว
  • การแนะนำชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งต้องทำโดยมติของคณะกรรมการที่มีหน้าที่และอำนาจใน
    การบริหารงานขององค์กรดังกล่าว ในกรณีที่องค์กรดังกล่าวไม่มีคณะกรรมการ ให้ผู้ที่มีหน้าที่และอำนาจ
    ในการบริหารงานขององค์กรเป็นผู้แนะนำชื่อแทน และให้ทำเป็นหนังสือโดยอย่างน้อยต้องมีประวัติระบุถึงเพศ
    ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และสาขาอาชีพของผู้ได้รับการแนะนำชื่อพร้อมทั้งหนังสือยินยอม
    จากผู้ได้รับการแนะนำชื่อ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
  • องค์กรตามวรรคหนึ่งซึ่งแจ้งการแนะนำชื่อหรือรับรองเอกสารหรือหลักฐานที่ใช้ประกอบการสมัคร
    เป็นเท็จ ให้การแจ้งการแนะนำชื่อหรือการรับรองเอกสารหรือหลักฐานดังกล่าวเป็นโมฆะ และให้คณะกรรมการ
    ประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

มาตรา ๙๔

  • การเลือกระดับอำเภอ ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) ผู้สมัครต้องมาถึงสถานที่เลือกและแสดงตนภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ผู้ใดไม่มา
หรือมาไม่ทันกำหนดให้หมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก

(๒) เมื่อผู้สมัครมาครบหรือเมื่อพ้นเวลาตาม (๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ
จัดให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัครรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกันและวิธีการสมัครเดียวกัน ณ สถานที่
ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอกำหนด

(๓) ให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัครที่ได้จัดตาม (๒) แล้ว ลงคะแนนเลือกบุคคล
ในกลุ่มเดียวกันและวิธีการสมัครเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะ
ลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนนมิได้

(๔) เมื่อการลงคะแนนของกลุ่มใดและวิธีการสมัครใดแล้วเสร็จ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับ
อำเภอดำเนินการให้มีการนับคะแนนของกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้นโดยเปิดเผยให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด
สามลำดับแรกของแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัคร เป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้นและ
วิธีการสมัครนั้น เพื่อไปดำเนินการเลือกในระดับจังหวัดต่อไป ในกรณีที่ลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากัน
จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินสามคน ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากันดังกล่าวจับสลากกันเองว่าผู้ใดจะได้รับ
เลือกในกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้น และในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสามคน ให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนนเป็น
ผู้ได้รับเลือก

(๕) ในกรณีที่กลุ่มใดและการสมัครโดยวิธีการใดมีผู้สมัครไม่เกินสามคน หรือมีผู้มารายงานตัว
ตาม (๑) ไม่เกินสามคน ให้ถือว่าผู้สมัครทุกคนซึ่งมารายงานตัวนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกสำหรับกลุ่มนั้นและ
วิธีการสมัครนั้นโดยไม่ต้องดำเนินการเลือก

(๖) กลุ่มใดและการสมัครโดยวิธีการใดไม่มีผู้สมัคร ให้งดการดำเนินการเลือกสำหรับกลุ่มนั้นและ
การสมัครโดยวิธีการนั้น และไม่มีผลกระทบต่อการเลือกของกลุ่มและการสมัครโดยวิธีการอื่น ๆ

(๗) กลุ่มใดและการสมัครโดยวิธีการใดมีผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกเลยมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบ
ของจำนวนผู้สมัครและแสดงตนในกลุ่มนั้นและการสมัครโดยวิธีการนั้น แต่ต้องไม่น้อยกว่าสามคน
ให้สันนิษฐานว่ามีการสมยอมกันในการเลือก และถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม
ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอดำเนินการให้ผู้สมัครในกลุ่มนั้นและโดยวิธีการสมัครนั้นเลือกกันเองใหม่
โดยให้ผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกนั้นหมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก และต้องออกจากสถานที่เลือก

(๘) ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอส่งบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกตาม (๔) และ (๕)
ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดพร้อมด้วยเอกสารหรือข้อมูลตามมาตรา ๒๘ (๕) ภายในวันถัดจาก
วันเลือกระดับอำเภอเพื่อดำเนินการต่อไป

  • การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๙๕

  • การเลือกระดับจังหวัด ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอต้องมาถึงสถานที่เลือกและแสดงตนภายในเวลาที่คณะกรรมการ
กำหนด ผู้ใดไม่มาหรือมาไม่ทันกำหนดให้หมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก

(๒) เมื่อผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอมาครบหรือเมื่อพ้นเวลาตาม (๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือก
ระดับจังหวัดจัดให้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอในกลุ่มเดียวกันและวิธีการสมัครเดียวกันนั้นรวมอยู่ด้วยกัน
ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดกำหนด

(๓) ให้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอตาม (๒) ลงคะแนนเลือกบุคคลตาม (๒) ในกลุ่มเดียวกันและ
วิธีการสมัครเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใด
เกินหนึ่งคะแนนมิได้

(๔) เมื่อการลงคะแนนของกลุ่มใดและวิธีการสมัครใดแล้วเสร็จ ให้ผู้อำนวยการการเลือก
ระดับจังหวัดดำเนินการนับคะแนนของกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้นโดยเปิดเผย ให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด
สี่ลำดับแรกของแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัคร เป็นผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดสำหรับกลุ่มนั้นและวิธีการ
สมัครนั้น เพื่อไปดำเนินการเลือกในระดับประเทศต่อไป ในกรณีที่ลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุ
ให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินสี่คน ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากันดังกล่าวจับสลากกันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือกในกลุ่มนั้น
และวิธีการสมัครนั้น และในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสี่คน ให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือก

(๕) ในกรณีที่กลุ่มใดและการสมัครโดยวิธีการใดมีผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอรวมกันแล้วไม่เกินสี่คน
หรือมีผู้มารายงานตัวตาม (๑) ไม่เกินสี่คน ให้ถือว่าผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอทุกคนซึ่งมารายงานตัวนั้น
เป็นผู้ได้รับเลือกสำหรับกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้นโดยไม่ต้องดำเนินการเลือก

(๖) กลุ่มใดและการสมัครโดยวิธีการใดไม่มีผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ ให้งดการดำเนินการเลือก
สำหรับกลุ่มนั้นและการสมัครโดยวิธีการนั้น และไม่มีผลกระทบต่อการเลือกของกลุ่มและการสมัคร
โดยวิธีการอื่น ๆ

(๗) กลุ่มใดและการสมัครโดยวิธีการใดมีผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกเลยมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบ
ของจำนวนผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอและแสดงตนในกลุ่มนั้นและการสมัครโดยวิธีการนั้น แต่ต้องไม่น้อยกว่า
สามคน ให้สันนิษฐานว่ามีการสมยอมกันในการเลือก และถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม
ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดดำเนินการให้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอในกลุ่มนั้นและโดยวิธีการสมัครนั้น
เลือกกันเองใหม่ โดยให้ผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกนั้นหมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก และต้องออกจาก
สถานที่เลือก

(๘) ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดส่งบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกตาม (๔) และ (๕)
ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศพร้อมด้วยเอกสารหรือข้อมูลตามมาตรา ๒๙ (๓) ภายในวันถัดจาก
วันเลือกระดับจังหวัดเพื่อดำเนินการต่อไป

  • การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๙๖

  • การเลือกระดับประเทศ ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดต้องมาถึงสถานที่เลือกและแสดงตนภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
ผู้ใดไม่มาหรือมาไม่ทันกำหนดให้หมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก

(๒) เมื่อผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดมาครบหรือเมื่อพ้นเวลาตาม (๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือก
ระดับประเทศจัดให้ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดในกลุ่มเดียวกันและวิธีการสมัครเดียวกันนั้นรวมอยู่ด้วยกัน
ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศกำหนด

(๓) ให้ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดตาม (๒) ลงคะแนนเลือกบุคคลตาม (๒) ในกลุ่มเดียวกันและ
วิธีการสมัครเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใด
เกินหนึ่งคะแนนมิได้

(๔) กลุ่มใดและการสมัครโดยวิธีการใดมีผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกเลยมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบ
ของจำนวนผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดและแสดงตนในกลุ่มนั้นและการสมัครโดยวิธีการนั้น ให้สันนิษฐาน
ว่ามีการสมยอมกันในการเลือก และถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ผู้อำนวยการการเลือก
ระดับประเทศดำเนินการให้ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดในกลุ่มนั้นและโดยวิธีการสมัครนั้นเลือกกันเองใหม่
โดยให้ผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกนั้นหมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก และต้องออกจากสถานที่เลือก

(๕) เมื่อการลงคะแนนของกลุ่มใดและวิธีการสมัครใดแล้วเสร็จ ให้ผู้อำนวยการการเลือก
ระดับประเทศดำเนินการนับคะแนนของกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้นโดยเปิดเผย แล้วแจ้งผลการนับคะแนน
ให้คณะกรรมการทราบ

  • เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานตาม (๕) แล้ว ให้รอไว้ไม่น้อยกว่าห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดเวลา
    ดังกล่าวแล้ว ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรม ให้จัดเรียง
    ลำดับรายชื่อตามผลการเลือกตาม (๕) โดยให้จัดเรียงลำดับรายชื่อผู้ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มและ
    แต่ละวิธีการสมัครตั้งแต่ลำดับที่หนึ่งถึงลำดับที่สิบเพื่อดำเนินการตามมาตรา ๙๘ ต่อไป
  • ในการจัดเรียงลำดับตามวรรคสองสำหรับผู้ที่อยู่ในลำดับที่มีคะแนนเท่ากันให้จัดให้มีการจับสลาก
    เพื่อเรียงลำดับต่อไป
  • การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๙๗

  • ผู้ใดขัดขืนไม่ยอมออกจากสถานที่เลือกตามมาตรา ๙๔ (๗) มาตรา ๙๕ (๗)
    หรือมาตรา ๙๖ (๔) ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๑

มาตรา ๙๘

  • เมื่อได้ดำเนินการเลือกบุคคลเพื่อเสนอชื่อต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
    ตามมาตรา ๙๐ (๑) (ก) เสร็จแล้วให้คณะกรรมการแจ้งรายชื่อผู้ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มและ
    แต่ละวิธีการสมัครตั้งแต่ลำดับที่หนึ่งถึงลำดับที่สิบของแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัครให้คณะรักษา
    ความสงบแห่งชาติพิจารณาคัดเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาต่อไป
  • ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติคัดเลือกบุคคลตามวรรคหนึ่งให้ได้จำนวนห้าสิบคนเพื่อนำความ
    กราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาและคัดเลือกรายชื่อ
    อีกจำนวนห้าสิบคนเป็นบัญชีสำรอง และให้ประกาศรายชื่อสมาชิกวุฒิสภาและบุคคลในบัญชีสำรอง
    ในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๙๙

  • ในการคัดเลือกบุคคลจากบัญชีสำรองเพื่อแทนตำแหน่งที่ว่าง ตามมาตรา ๙๐ (๔)
    และตามมาตรา ๙๘ ให้นำความในมาตรา ๔๕ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

................................................

ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้
การเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

 
       
All right reserved      
admin@livinginthailand.lcom