Living in Thailand

พระราชบัญญัติ

 

   
   

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
พ.ศ. ๒๕๖๑


หมวด ๑
ผู้สมัครและการสมัครรับเลือก

 

มาตรา ๑๐

  • ภายใต้บังคับมาตรา ๑๕ วรรคสอง การแบ่งกลุ่มตามมาตรา ๑๑ เป็นไป
    เพื่อให้บุคคลซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔ ทุกคนมีสิทธิ
    สมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้

มาตรา ๑๑

  • วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยคนซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคล
    ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงาน
    ด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคมในแต่ละกลุ่ม ดังต่อไปนี้

(๑) กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อันได้แก่ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ
หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(๒) กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ
อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(๓) กลุ่มการศึกษา อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา
บุคลากรทางการศึกษา หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(๔) กลุ่มการสาธารณสุข อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์
สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(๕) กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(๖) กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(๗) กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน
หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(๘) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค
ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(๙) กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรืออื่น ๆ
ในทำนองเดียวกัน

(๑๐) กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตาม (๙)

(๑๑) กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว อันได้แก่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว
มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(๑๒) กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(๑๓) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่น ๆ
ในทำนองเดียวกัน

(๑๔) กลุ่มสตรี

(๑๕) กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่น ๆ
ในทำนองเดียวกัน

(๑๖) กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(๑๗) กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(๑๘) กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(๑๙) กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

(๒๐) กลุ่มอื่น ๆ

  • การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
  • ผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔ ย่อมมีสิทธิสมัคร
    ในกลุ่มอื่น ๆ ตาม (๒๐) ได้

มาตรา ๑๒

  • การเลือกสมาชิกวุฒิสภาให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
    ภายในห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาใช้บังคับ ให้คณะกรรมการ
    ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับการเลือก ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดวันเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ

(๒) กำหนดวันรับสมัคร โดยเริ่มรับสมัครไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก
สมาชิกวุฒิสภาใช้บังคับ และต้องกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่าห้าวันแต่ต้องไม่เกินเจ็ดวัน
วันเลือกในระดับอำเภอ ต้องไม่เกินยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร วันเลือกใน
ระดับจังหวัด ต้องไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันเลือกในระดับอำเภอ และวันเลือกในระดับประเทศ ต้องไม่เกิน
สิบวันนับแต่วันเลือกในระดับจังหวัด ทั้งนี้ ในการกำหนดวันเลือกในแต่ละระดับต้องกำหนดเป็นวันเดียวกัน
ทั่วราชอาณาจักร

มาตรา ๑๓

  • ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีในวันสมัครรับเลือก

(๓) มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่าสิบปี

(๔) ผู้สมัครต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย

(ก) เป็นบุคคลซึ่งเกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก

(ข) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
นับถึงวันสมัครรับเลือก

(ค) ทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึง
วันสมัครรับเลือก

(ง) เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณี
เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี

(จ) เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า
สองปีการศึกษา

  • ความใน (๓) ไม่ใช้บังคับแก่สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และ
    กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ซึ่งสมัครในกลุ่มตามมาตรา ๑๑ (๑๔) และ (๑๕)

มาตรา ๑๔

  • ผู้สมัครต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) ติดยาเสพติดให้โทษ

(๒) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

(๓) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ

(๔) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

(๕) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่

(๖) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(๗) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัคร
รับเลือกตั้ง

(๘) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

(๙) เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกในระดับอำเภอ เว้นแต่
ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๑๐) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่
หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ

(๑๑) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวย
ผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วย
การป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(๑๒) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อ
ตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ
หรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา
ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดใน
ความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือ
เจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและ
ปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน

(๑๓) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง

(๑๔) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

(๑๕) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือ
เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

(๑๖) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

(๑๗) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือ
การกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่า
โดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย

(๑๘) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
มีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติ
หน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน
ทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

(๑๙) เป็นข้าราชการ

(๒๐) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
มาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก

(๒๑) เป็นสมาชิกพรรคการเมือง

(๒๒) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เว้นแต่ได้พ้นจากการดำรงตำแหน่ง
ในพรรคการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก

(๒๓) เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึง
วันสมัครรับเลือก

(๒๔) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิก
สภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก

(๒๕) เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา
ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาในคราวเดียวกัน
หรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ

(๒๖) เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ

มาตรา ๑๕

  • ผู้ซึ่งประสงค์จะสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องยื่นใบสมัครด้วยตนเอง
    พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานประกอบการสมัคร และชำระค่าธรรมเนียมการสมัครจำนวนสองพันห้าร้อยบาท
  • ให้ผู้สมัครแต่ละคนมีสิทธิสมัครเพื่อเข้ารับเลือกในกลุ่มตามมาตรา ๑๑ ได้เพียงกลุ่มเดียวและ
    อำเภอเดียว และเมื่อได้ยื่นใบสมัครแล้วจะถอนการสมัครมิได้
  • ผู้สมัครมีสิทธิสมัครในกลุ่มตามมาตรา ๑๑ (๒๐) ได้ แม้จะมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ
    ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านอื่นในกลุ่มอื่น
    แบบใบสมัคร แบบหนังสือแจ้งการเสนอชื่อ วิธีการสมัคร ระยะเวลาการสมัคร สถานที่สมัคร
    การเรียงลำดับผู้สมัคร และวิธีการชำระค่าธรรมเนียมการสมัคร ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
    แบบใบสมัครอย่างน้อยต้องมีข้อความที่ผู้สมัครต้องรับรองว่าตนมีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ และ
    ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔
  • การกำหนดสถานที่สมัครต้องกำหนดให้อยู่ภายในเขตอำเภอที่จะมีการเลือก

มาตรา ๑๖

  • เอกสารและหลักฐานประกอบการสมัคร ประกอบด้วย

(๑) เอกสารหรือหลักฐานอันแสดงว่าตนมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ
ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านใดด้านหนึ่งตามมาตรา ๑๑ ทั้งนี้ ตามที่
คณะกรรมการกำหนด

(๒) ข้อความแนะนำตัวของผู้สมัครซึ่งมีความยาวไม่เกินที่คณะกรรมการกำหนด

(๓) เอกสารหรือหลักฐานอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
ผู้สมัครต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องและเป็นจริงของเอกสารและหลักฐานตามวรรคหนึ่ง
ทุกฉบับและทุกหน้า ในกรณีที่ไม่อาจลงลายมือชื่อได้ ให้รับรองความถูกต้องและเป็นจริงตามวิธีการ
ที่คณะกรรมการกำหนด

  • เอกสารหรือหลักฐานตาม (๑) ต้องมีพยานอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อยืนยันว่าผู้นั้นมี
    คุณลักษณะเช่นนั้นจริง และต้องมีสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองถูกต้อง
    แนบมาพร้อมกัน
  • การกำหนดตาม (๒) ให้คำนึงถึงความสะดวกในการเผยแพร่ให้ผู้สมัครรับรู้ และการกำหนด
    ตาม (๓) ต้องไม่สร้างภาระแก่ผู้สมัครเกินสมควร

มาตรา ๑๗

  • ในกรณีมีเหตุจำเป็นเฉพาะพื้นที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการรับสมัครภายในระยะเวลา
    หรือในวันที่กำหนดเพราะเหตุจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นใด ให้คณะกรรมการ
    มีอำนาจประกาศกำหนดให้ดำเนินการรับสมัครโดยวิธีการอื่น หรือจะกำหนดวันรับสมัครเพิ่มเติมก็ได้

มาตรา ๑๘

  • ห้ามมิให้คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยรายชื่อผู้สมัครและจำนวน
    ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มจนกว่าจะพ้นระยะเวลารับสมัคร
  • ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่กรณีที่คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบ
    ข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัคร ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบภายในสำนักงานหรือมอบหมายให้หน่วยงานอื่นของรัฐ
    เป็นผู้ตรวจสอบ แต่ไม่ว่าในกรณีใด ห้ามมิให้เปิดเผยหรือทำด้วยประการใด ๆ ให้บุคคลอื่นซึ่งไม่มีหน้าที่
    ตรวจสอบดังกล่าวล่วงรู้รายชื่อหรือจำนวนผู้สมัครในแต่ละกลุ่มจนกว่าจะพ้นระยะเวลารับสมัคร

มาตรา ๑๙

  • การเลือกในระดับอำเภอให้กระทำได้ แม้จะไม่มีผู้สมัครครบทุกกลุ่มตามมาตรา ๑๑

มาตรา ๒๐

  • ในกรณีที่ความปรากฏต่อผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ ไม่ว่าด้วยเหตุใด
    ว่าผู้สมัครผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือสมัครมากกว่าหนึ่งกลุ่มหรือหนึ่งอำเภอ หรือ
    แสดงข้อมูลในใบสมัครหรือเอกสารหรือหลักฐานประกอบการสมัครอันเป็นเท็จ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับ
    อำเภอสั่งไม่รับสมัคร ในกรณีที่รับสมัครไว้แล้ว ให้การสมัครของผู้นั้นเป็นโมฆะ และให้ผู้อำนวยการการเลือก
    ซึ่งพบเห็นดังกล่าวสั่งลบชื่อผู้นั้นออกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัคร แล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบ
  • ผู้ถูกลบชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครตามวรรคหนึ่ง ไม่มีสิทธิเลือกและไม่มีสิทธิได้รับเลือก
    แต่ไม่มีผลกระทบต่อการรับสมัครหรือการเลือกที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
  • ในกรณีที่ความตามวรรคหนึ่งปรากฏขึ้นในระหว่างการดำเนินการเลือกไม่ว่าระดับใดก่อนประกาศผล
    การเลือก ให้ถือว่าผู้สมัครผู้นั้นกระทำการเพื่อให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม และ
    ให้คณะกรรมการสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นไว้เป็นการชั่วคราวเป็นเวลาไม่เกินหนึ่งปี
    ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนดตามที่เห็นสมควร คำสั่งและ
    การกำหนดของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
  • เมื่อคณะกรรมการมีคำสั่งตามวรรคสาม ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัคร
    รับเลือกตั้งของผู้นั้น

มาตรา ๒๑

  • ภายในห้าวันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ
    ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามแยกเป็นรายกลุ่มทุกกลุ่มในเขตอำเภอ
    โดยอย่างน้อยต้องระบุอาชีพและอายุของผู้สมัคร เพื่อให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป และให้ประกาศไว้
    ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ศาลากลางจังหวัด และที่ว่าการอำเภอด้วย
  • การประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ
    ที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๒๒

  • กรณีที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอสั่งไม่รับสมัครผู้ใดหรือสั่งลบชื่อผู้สมัครผู้ใด
    ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลฎีกาภายในสามวันนับแต่วันที่ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครหรือ
    วันที่ผู้อำนวยการการเลือกสั่งลบชื่อ แล้วแต่กรณี
  • ในการพิจารณาและมีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือก
    ไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน เมื่อถึงวันเลือก ถ้าศาลฎีกายังมิได้วินิจฉัยให้ดำเนินการเลือกต่อไป โดยให้ถือว่ามีผู้สมัคร
    เพียงเท่าที่ปรากฏตามบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอประกาศ ในกรณีเช่นนี้
    คำวินิจฉัยของศาลฎีกาไม่มีผลกระทบต่อการเลือกที่ดำเนินการไปแล้ว

มาตรา ๒๓

  • ในกรณีที่ผู้สมัครซึ่งถูกลบชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครก่อนการดำเนินการเลือก
    ในระดับจังหวัดหรือระดับประเทศ ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลฎีกาภายในสามวันนับแต่
    วันที่ผู้อำนวยการการเลือกสั่งลบชื่อ และให้นำความในมาตรา ๒๒ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
 
       
All right reserved      
admin@livinginthailand.lcom