มาตรา ๓๓
- การเลือกสมาชิกวุฒิสภาให้ใช้วิธีลงคะแนนลับตามวิธีการที่กำหนดในพระราชบัญญัติ
ประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๓๔
- ในกรณีมีเหตุจำเป็นเฉพาะพื้นที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการเลือกได้ภายในระยะเวลา
หรือในวันที่กำหนดเพราะเหตุจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นใด คณะกรรมการ
อาจกำหนดวันเลือกใหม่ของการเลือกระดับอำเภอ การเลือกระดับจังหวัด หรือการเลือกระดับประเทศ
ตามความจำเป็นก็ได้
มาตรา ๓๕
- กรณีที่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการเลือก
ระดับอำเภอ ระดับจังหวัดหรือระดับประเทศพร้อมกันทั่วราชอาณาจักรตามวันที่คณะกรรมการประกาศ
กำหนดตามมาตรา ๑๒ (๑) อันมิใช่เป็นกรณีตามมาตรา ๓๔ และคณะกรรมการมีมติด้วยคะแนน ไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ว่าการดำเนินการเลือกต่อไปตามกำหนดวันเดิม
จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือเรียบร้อย คณะกรรมการจะประกาศกำหนดวันเลือกใหม่ก็ได้
- ในกรณีที่มีเหตุตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนน คณะกรรมการจะสั่งยกเลิก
การเลือก และประกาศกำหนดวันเลือกใหม่ก็ได้
มาตรา ๓๖
- ผู้สมัครอาจแนะนำตัวได้ตามวิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้สมัคร จะช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัว ต้องปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไข
ตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๓๗
- ในระหว่างการดำเนินการเลือกตามมาตรา ๔๐ มาตรา ๔๑ หรือมาตรา ๔๒
ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่ผู้สมัครเข้าไปในสถานที่เลือก เว้นแต่จะเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการเลือก หรือผู้ซึ่ง
ได้รับอนุญาตจากกรรมการ ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด
หรือผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ แล้วแต่กรณี
- เมื่อประกาศผลการนับคะแนนแล้ว ผู้สมัครหรือผู้ได้รับเลือกขั้นต้นซึ่งไม่มีสิทธิที่จะเลือกหรือ
ได้รับเลือก ต้องออกจากสถานที่เลือก
มาตรา ๓๘
- ในระหว่างการดำเนินการเลือกตามมาตรา ๔๐ มาตรา ๔๑ หรือมาตรา ๔๒
ห้ามมิให้ผู้สมัครผู้ใดนำ เข้าไปหรือใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่อาจใช้เพื่อติดต่อสื่อสารหรือ
เพื่อบันทึกภาพหรือเสียง หรืออุปกรณ์อื่นใดตามที่คณะกรรมการกำหนดในสถานที่เลือก รวมทั้งบริเวณ
โดยรอบสถานที่เลือกตามที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด หรือ
ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ แล้วแต่กรณี กำหนด
- ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่ผู้สมัครซึ่งเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ และมีความจำเป็น
ต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ตามวรรคหนึ่งเพื่อประโยชน์ในการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกหรือการลงคะแนน
โดยได้รับอนุญาตจากกรรมการ ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด
หรือผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงการอำนวยความสะดวก
ตามมาตรา ๕๗ ด้วย
มาตรา ๓๙
- ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิ
เลือกเข้าไป ณ สถานที่เลือก หรือมิให้ไปถึง ณ สถานที่เลือกภายในกำหนดเวลาที่จะเลือก
มาตรา ๔๐
- การเลือกระดับอำเภอ ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้สมัครต้องมาถึงสถานที่เลือกและแสดงตนภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ผู้ใดไม่มา
หรือมาไม่ทันกำหนดให้หมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก
(๒) เมื่อผู้สมัครมาครบหรือพ้นเวลาตาม (๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอจัดให้
ผู้สมัครแต่ละกลุ่มรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอกำหนด
(๓) ให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนน
เลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนนมิได้
(๔) เมื่อการลงคะแนนของกลุ่มใดแล้วเสร็จ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอดำเนินการ
ให้มีการนับคะแนนของกลุ่มนั้นโดยเปิดเผย
(๕) ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับห้าคนแรกเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม ในกรณี
ที่ในลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินห้าคนให้ผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากันดังกล่าว
จับสลากกันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือกในกลุ่มนั้น ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงห้าคน ให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนน
เป็นผู้ได้รับเลือก
(๖) ในกรณีที่ผู้ซึ่งได้รับเลือกตาม (๕) ผู้ใดไม่อยู่ในสถานที่เลือกในระหว่างดำเนินการเลือกขั้นต่อไป
ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก และให้ถือว่าผู้ซึ่งได้รับเลือกตาม (๕) มีเพียงเท่าที่มีอยู่
(๗) ในกรณีที่กลุ่มใดมีผู้สมัครไม่เกินห้าคน หรือมีผู้มารายงานตัวตาม (๑) ไม่เกินห้าคน
ให้ผู้สมัครกลุ่มนั้นไม่ต้องดำเนินการเลือกกันเอง โดยให้ถือว่าผู้สมัครทุกคนซึ่งมารายงานตัวในกลุ่มนั้น
เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นสำหรับกลุ่มนั้น
(๘) กลุ่มใดไม่มีผู้สมัคร ให้งดการดำเนินการให้มีการเลือกสำหรับกลุ่มนั้น และไม่มีผลกระทบต่อ
การเลือกของกลุ่มอื่น
(๙) เมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มแล้ว ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มตกลงกันว่า
จะให้ผู้ใดเป็นผู้จับสลากตาม (๑๐) ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ใช้วิธีจับสลาก
(๑๐) ให้จัดให้มีการแบ่งสายออกเป็นสายไม่เกินสี่สาย แต่ละสายประกอบด้วยจำนวนกลุ่มเท่ากัน
เว้นแต่จะแบ่งให้เท่ากันไม่ได้ ให้แบ่งให้แต่ละสายมีจำนวนกลุ่มใกล้เคียงกันมากที่สุด และในแต่ละสาย
ต้องมีกลุ่มไม่เกินห้ากลุ่มแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามกลุ่ม และให้บุคคลตาม (๙) ของแต่ละกลุ่มจับสลาก
ว่ากลุ่มของตนจะอยู่ในสายใด
(๑๑) ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน
โดยแต่ละคนมีสิทธิเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มอื่นแต่ละกลุ่มในสายเดียวกันได้กลุ่มละหนึ่งคน ในชั้นนี้
ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มเดียวกันจะเลือกกันเองหรือเลือกตนเองมิได้
(๑๒) เมื่อดำเนินการเลือกตาม (๑๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอดำเนินการ
ให้มีการนับคะแนนโดยเปิดเผย ให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดสามลำดับแรกของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือก
ระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้น เพื่อไปดำเนินการเลือกในระดับจังหวัดต่อไป ในกรณีที่ในลำดับใดมีผู้ได้
คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินสามคน ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากันดังกล่าวจับสลาก
กันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือกในกลุ่มนั้น และในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสามคนให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนน
เป็นผู้ได้รับเลือก
(๑๓) ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอส่งบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกตาม (๑๒) ให้ผู้อำนวยการ
การเลือกระดับจังหวัดพร้อมด้วยเอกสารหรือข้อมูลตามมาตรา ๒๘ (๕) ภายในวันถัดจากวันเลือก
ระดับอำเภอเพื่อดำเนินการต่อไป
การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้
ในเขตอำเภอใดมีผู้สมัครไม่เกินห้ากลุ่ม เมื่อได้ดำเนินการเลือกตาม (๓) แล้ว ไม่ต้องจัดให้มีการแบ่งสาย
ตาม (๑๐) และให้แต่ละกลุ่มเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นแต่ละกลุ่มได้คนละหนึ่งคน โดยผู้สมัครในกลุ่มเดียวกัน
จะเลือกกันเองหรือเลือกตนเองมิได้
มาตรา ๔๑
- การเลือกระดับจังหวัด ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอต้องมาถึงสถานที่เลือกและแสดงตนภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
ผู้ใดไม่มาหรือมาไม่ทันกำหนดให้หมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก
(๒) เมื่อผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอมาครบหรือพ้นเวลาตาม (๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือก
ระดับจังหวัดจัดให้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอแต่ละกลุ่มรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการ
การเลือกระดับจังหวัดกำหนด
(๓) ให้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอแต่ละกลุ่มลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสองคน
โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนนมิได้
(๔) เมื่อการลงคะแนนของกลุ่มใดแล้วเสร็จ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดดำเนินการ
ให้มีการนับคะแนนของกลุ่มนั้นโดยเปิดเผย
(๕) ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับห้าคนแรกเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม
ในกรณีที่ในลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินห้าคนให้ผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากัน
ดังกล่าวจับสลากกันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือกในกลุ่มนั้น ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงห้าคน ให้เฉพาะผู้ซึ่ง
ได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือก
(๖) ในกรณีที่ผู้ซึ่งได้รับเลือกตาม (๕) ผู้ใดไม่อยู่ในสถานที่เลือกในระหว่างดำเนินการเลือกขั้นต่อไป
ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก และให้ถือว่าผู้ซึ่งได้รับเลือกตาม (๕) มีเพียงเท่าที่มีอยู่
(๗) ในกรณีที่กลุ่มใดมีผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอรวมกันแล้วไม่เกินห้าคน หรือมีผู้มารายงานตัว
ตาม (๑) ไม่เกินห้าคน ให้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอกลุ่มนั้นไม่ต้องดำเนินการเลือกกันเอง โดยให้ถือว่า
ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอทุกคนซึ่งมารายงานตัวในกลุ่มนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นสำหรับกลุ่มนั้น
(๘) กลุ่มใดไม่มีผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ ให้งดการดำเนินการเลือกสำหรับกลุ่มนั้น และ
ไม่มีผลกระทบต่อการเลือกของกลุ่มอื่น
(๙) เมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มแล้ว ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มตกลงกัน
ว่าจะให้ผู้ใดเป็นผู้จับสลากตาม (๑๐) ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ใช้วิธีจับสลาก
(๑๐) ให้จัดให้มีการแบ่งสายออกเป็นสายไม่เกินสี่สาย แต่ละสายประกอบด้วยจำนวนกลุ่มเท่ากัน
เว้นแต่จะแบ่งให้เท่ากันไม่ได้ ให้แบ่งให้แต่ละสายมีจำนวนกลุ่มใกล้เคียงกันมากที่สุด และในแต่ละสายต้อง
มีกลุ่มไม่เกินห้ากลุ่มแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามกลุ่ม และให้บุคคลตาม (๙) ของแต่ละกลุ่มจับสลากว่ากลุ่มของตน
จะอยู่ในสายใด
(๑๑) ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยแต่ละคน
มีสิทธิเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นแต่ละกลุ่มในสายเดียวกันได้กลุ่มละหนึ่งคน ในชั้นนี้ ผู้ได้รับเลือกขั้นต้น
ในกลุ่มเดียวกันจะเลือกกันเองหรือเลือกตนเองมิได้
(๑๒) เมื่อดำเนินการเลือกตาม (๑๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดดำเนินการให้มี
การนับคะแนนโดยเปิดเผย ให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดสองลำดับแรกของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือกระดับ
จังหวัดสำหรับกลุ่มนั้น เพื่อไปดำเนินการเลือกในระดับประเทศต่อไป ในกรณีที่ในลำดับใดมีผู้ได้คะแนน
เท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินสองคน ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากันดังกล่าวจับสลากกันเองว่าผู้ใด
จะได้รับเลือกในกลุ่มนั้น และในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสองคน ให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือก
(๑๓) ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดส่งบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกตาม (๑๒) ให้ผู้อำนวยการ
การเลือกระดับประเทศพร้อมด้วยเอกสารหรือข้อมูลตามมาตรา ๒๙ (๓) ภายในวันถัดจากวันเลือก
ระดับจังหวัดเพื่อดำเนินการต่อไป
- การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้
ในจังหวัดใดมีผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอจากทุกอำเภอมาระดับจังหวัดไม่เกินห้ากลุ่ม เมื่อได้ดำเนินการเลือก
ตาม (๓) แล้ว ไม่ต้องจัดให้มีการแบ่งสายตาม (๑๐) และให้แต่ละกลุ่มเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นแต่ละกลุ่ม
ได้คนละหนึ่งคน โดยผู้สมัครในกลุ่มเดียวกันจะเลือกกันเองหรือเลือกตนเองมิได้
มาตรา ๔๒
- การเลือกระดับประเทศ ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดต้องมาถึงสถานที่เลือกและแสดงตนภายในเวลาที่คณะกรรมการ
กำหนด ผู้ใดไม่มาหรือมาไม่ทันกำหนดให้หมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก
(๒) เมื่อผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดมาครบหรือพ้นเวลาตาม (๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือก
ระดับประเทศจัดให้ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดแต่ละกลุ่มรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการ
การเลือกระดับประเทศกำหนด
(๓) ให้ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดแต่ละกลุ่มลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสิบคน
โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนนมิได้
(๔) เมื่อการลงคะแนนของกลุ่มใดแล้วเสร็จ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศดำเนินการ
นับคะแนนของกลุ่มนั้นโดยเปิดเผย
(๕) ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับสี่สิบคนแรกเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม
ในกรณีที่ในลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินสี่สิบคน ให้ผู้ซึ่งได้คะแนน
เท่ากันดังกล่าวจับสลากกันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือกในกลุ่มนั้น ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสี่สิบคน
แต่มีจำนวนตั้งแต่ยี่สิบคนขึ้นไป ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้นมีเท่าที่มีอยู่ แต่ถ้ามีผู้ได้คะแนนไม่ถึงยี่สิบคน
ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศจัดให้ผู้ซึ่งไม่ได้รับเลือกซึ่งยังอยู่ ณ สถานที่เลือก ลงคะแนน
เลือกกันเองใหม่เพื่อให้ได้จำนวนยี่สิบคน
(๖) ในกรณีที่ผู้ซึ่งได้รับเลือกตาม (๕) ผู้ใดไม่อยู่ในสถานที่เลือกในระหว่างการดำเนินการ
เลือกขั้นต่อไป ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก และให้ถือว่าผู้ซึ่งได้รับเลือกมีเพียงเท่าที่มีอยู่
(๗) เมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มแล้ว ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มตกลงกัน
ว่าจะให้ผู้ใดเป็นผู้จับสลากตาม (๘) ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ใช้วิธีจับสลาก
(๘) ให้จัดให้มีการแบ่งสายออกเป็นสายไม่เกินสี่สาย แต่ละสายประกอบด้วยจำนวนกลุ่มเท่ากัน
เว้นแต่จะแบ่งให้เท่ากันไม่ได้ ให้แบ่งให้แต่ละสายมีจำนวนกลุ่มใกล้เคียงกันมากที่สุด และในแต่ละสาย
ต้องมีกลุ่มไม่เกินห้ากลุ่มแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามกลุ่ม และให้บุคคลตาม (๗) ของแต่ละกลุ่มจับสลาก
ว่ากลุ่มของตนจะอยู่ในสายใด
(๙) ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยแต่ละคน
มีสิทธิเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นแต่ละกลุ่มในสายเดียวกันได้กลุ่มละไม่เกินห้าคน ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มเดียวกัน
จะเลือกกันเองหรือเลือกตนเองมิได้
(๑๐) เมื่อดำเนินการเลือกตาม (๙) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศดำเนินการ
นับคะแนนโดยเปิดเผย แล้วแจ้งผลการนับคะแนนให้คณะกรรมการทราบ
- เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานตาม (๑๐) แล้ว ให้รอไว้ไม่น้อยกว่าห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดเวลา
ดังกล่าวแล้ว ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือก
ตาม (๑๐) ในราชกิจจานุเบกษา โดยให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มตั้งแต่ลำดับที่หนึ่งถึงลำดับที่สิบ
เป็นผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากกลุ่มนั้น และผู้ได้รับคะแนนลำดับที่สิบเอ็ดถึงลำดับที่สิบห้า
ของแต่ละกลุ่มอยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบ
- ในการจัดเรียงลำดับตามวรรคสองสำหรับผู้ที่อยู่ในลำดับที่มีคะแนนเท่ากัน ให้จัดให้มีการจับสลาก
เพื่อเรียงลำดับต่อไป
- การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๔๓
ในกรณีที่คณ ะกรรมการกำ หนดให้มีการนับคะแนนด้วยเครื่องกลหรือ
เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าได้ดำเนินการนั้นโดยเปิดเผย ให้ถือว่าเป็นการนับคะแนนโดยเปิดเผยแล้ว
มาตรา ๔๔
- ในกรณีที่ผู้สมัครในระดับอำเภอ หรือผู้มีสิทธิเลือกในระดับจังหวัด หรือระดับประเทศ
เห็นว่าการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกของคณะกรรมการ ผู้อำนวยการการเลือก หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นไป
โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลฎีกาภายในสามวันนับแต่วันที่มีการออกคำสั่ง
และให้นำความในมาตรา ๒๒ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๔๕
- ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภากลุ่มใดมีไม่ครบจำนวน ไม่ว่าเพราะเหตุตำแหน่ง
ว่างลง หรือด้วยเหตุอื่นใดอันมิใช่เพราะเหตุถึงคราวออกตามอายุของวุฒิสภา ให้ประธานวุฒิสภาประกาศ
ในราชกิจจานุเบกษาเลื่อนบุคคลในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้นขึ้นดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาแทนตามลำดับ และให้ผู้นั้นอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของวุฒิสภาที่เหลืออยู่ ในระหว่างที่บุคคลดังกล่าวยังมิได้เข้ารับ
ตำแหน่ง ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่
- หากมีกรณีที่ต้องเลื่อนบุคคลในบัญชีสำรองของกลุ่มใดขึ้นดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาแทน
ตามวรรคหนึ่ง แต่ไม่มีบุคคลในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้นเหลืออยู่ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ประธานวุฒิสภาจับสลาก
ว่าจะเลื่อนบุคคลในบัญชีสำรองในกลุ่มอื่นใดที่ยังมีผู้อยู่ในบัญชีสำรองเหลืออยู่ แล้วดำเนินการเลื่อนบุคคลนั้น
ขึ้นดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตามวรรคหนึ่ง การจับสลากดังกล่าวให้มีผลเฉพาะการเลื่อนครั้งนั้น
- ในกรณีที่ทุกกลุ่มไม่มีรายชื่อบุคคลในบัญชีสำรองเหลืออยู่สำหรับการเลื่อนบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่ง
สมาชิกวุฒิสภาตามวรรคสอง ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่ แต่ในกรณีที่มีสมาชิก
วุฒิสภาเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดและอายุของวุฒิสภาเหลืออยู่เกินหนึ่งปี
ให้ดำเนินการเลือกสมาชิกวุฒิสภาขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายในหกสิบวันนับแต่วันที่วุฒิสภามีสมาชิกเหลืออยู่
ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้ได้รับเลือกดังกล่าวอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของวุฒิสภาที่เหลืออยู่
มาตรา ๔๖
- ให้คณะกรรมการสั่งลบรายชื่อของบุคคลออกจากบัญชีสำรองเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔
(๔) มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลในบัญชีสำรองกลุ่มใดกระทำการใดหรือรู้เห็นเป็นใจด้วยกับ
การกระทำใดของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม
(๕) ศาลฎีกามีคำพิพากษาตามมาตรา ๖๒ วรรคสาม
คำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ถือว่าบัญชีสำรองมีเพียงเท่าที่มีอยู่
มาตรา ๔๗
- ในกรณีตามมาตรา ๔๖ (๔) และในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าบุคคล
ในบัญชีสำรองผู้ใดลาออกโดยเจตนาเพื่อให้บุคคลในลำดับถัดลงไปได้รับเลื่อนขึ้นเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือ
มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลในลำดับถัดไปหรือบุคคลอื่นใดได้ให้ หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือ
ประโยชน์อื่นใดแก่สมาชิกวุฒิสภาหรือบุคคลในบัญชีสำรองเพื่อลาออก ให้คณะกรรมการยื่นคำร้องต่อ
ศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
มาตรา ๔๘
- หีบบัตรและบัตรลงคะแนน ให้มีลักษณะตามที่คณะกรรมการกำหนด ในการกำหนด
เกี่ยวกับหีบบัตรต้องกำหนดให้สามารถใช้หีบบัตรเดิมได้ด้วย
มาตรา ๔๙
- วิธีการลงคะแนน ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๕๐
- ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกผู้ใดใช้บัตรอื่นอันมิใช่บัตรลงคะแนนตามมาตรา ๔๘ ลงคะแนนเลือก
มาตรา ๕๑
- ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกผู้ใดนำบัตรลงคะแนนออกไปจากสถานที่เลือก
มาตรา ๕๒
- ห้ามมิให้ผู้ใดจงใจทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตโดยวิธีใดไว้ที่บัตรลงคะแนน
มาตรา ๕๓
- ห้ามมิให้ผู้ใดนำบัตรลงคะแนนใส่ลงในหีบบัตรลงคะแนนโดยไม่มีอำนาจโดยชอบ
ด้วยกฎหมาย หรือกระทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกเพื่อแสดงว่ามีผู้มาแสดงตน เพื่อเลือกโดย
ผิดไปจากความจริง หรือกระทำการใดอันเป็นเหตุให้มีบัตรลงคะแนนเพิ่มขึ้นจากความจริง
มาตรา ๕๔
- ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกผู้ใดใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรลงคะแนนที่ตนได้
ลงคะแนนแล้ว
มาตรา ๕๕
- ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกนำบัตรลงคะแนนที่เลือกแล้วแสดงต่อผู้อื่นเพื่อให้ผู้อื่นทราบ
ว่าตนเลือกหรือไม่เลือกผู้ใด
มาตรา ๕๖
- บัตรลงคะแนนดังต่อไปนี้ ให้ถือเป็นบัตรเสียและมิให้นับเป็นคะแนน
(๑) บัตรปลอม
(๒) บัตรที่มีการทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตหรือเขียนข้อความใด ๆ ลงในบัตรลงคะแนน
นอกจากเครื่องหมายในการลงคะแนน เว้นแต่เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ดำเนินการ
เกี่ยวกับการเลือก
(๓) บัตรที่มิได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน
(๔) บัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด
(๕) บัตรที่ลงคะแนนให้ผู้ที่ไม่มีสิทธิได้รับเลือก
(๖) บัตรที่ลงคะแนนให้บุคคลเกินจำนวนที่กำหนด
(๗) บัตรที่ลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนน
(๘) บัตรที่มีลักษณะตามที่คณะกรรมการกำหนดว่าเป็นบัตรเสีย
มาตรา ๕๗
- เพื่ออำนวยความสะดวกในการเลือกให้แก่ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกซึ่งเป็นคนพิการ
หรือทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ หรือผู้ประสบปัญหาในการใช้สิทธิเลือก ให้ผู้อำนวยการการเลือกจัดให้มี
การอำนวยความสะดวกในการเลือกของคนพิการหรือทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ หรือผู้ประสบปัญหาในการใช้สิทธิ
เลือกไว้ด้วย โดยอาจให้บุคคลอื่นหรือผู้ที่ผู้อำนวยการการเลือกมอบหมายเป็นผู้กระทำการแทนโดย
ความยินยอมและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคนพิการหรือทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ หรือผู้ประสบปัญหาใน
การใช้สิทธิเลือกนั้น
|