Living in Thailand

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ


กลับไปหน้าแรก พรบ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ปปช.  

     

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑


หมวด ๓

การดำเนินการกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งเฉพาะ

ส่วนที่ ๑

การดำเนินคดีทุจริตต่อหน้าที่
หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย


 

มาตรา ๗๖

  • เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติลงความเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
    ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ หรือ
    จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.
    ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็น พร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์
    ไปยังอัยการสูงสุดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีมติ เพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกา
    แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ทั้งนี้ โดยไม่ต้องส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาให้อัยการสูงสุด
    แต่ต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ

มาตรา ๗๗

  • เมื่ออัยการสูงสุดได้รับสำนวนคดีอาญาตามมาตรา ๗๖ ไว้แล้ว ให้อัยการสูงสุด
    ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
    นับแต่วันที่ได้รับสำนวน
  • ในกรณีที่อัยการสูงสุดเห็นว่าสำนวนการไต่สวนยังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีได้ ให้แจ้ง
    คณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยระบุข้อไม่สมบูรณ์ให้ครบถ้วนในคราวเดียวกัน ภายในเก้าสิบวันนับแต่
    วันที่ได้รับเรื่อง ในกรณีนี้ให้อัยการสูงสุดและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการร่วมฝ่ายละเท่ากัน
    โดยมีผู้แทนจากแต่ละฝ่ายไม่เกินฝ่ายละห้าคน ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากอัยการสูงสุด
    เพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ รวมทั้งดำเนินการอื่นใดให้สำนวนการไต่สวนครบถ้วน
    สมบูรณ์ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง เพื่อส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีต่อไป ทั้งนี้
    ให้คณะกรรมการร่วมมีอำนาจตามมาตรา ๓๔ (๑) (๒) (๓) และ (๔) ด้วย
  • ในกรณีที่คณะกรรมการร่วมไม่อาจหาข้อยุติได้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไป
    ตามที่เห็นสมควร โดยจะยื่นฟ้องคดีเองก็ได้ แต่ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นควรฟ้องคดี
    คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องดำเนินการฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ แต่ต้องไม่ช้ากว่าเก้าสิบวัน
    นับแต่วันที่หาข้อยุติไม่ได้
  • ให้สำนักงานอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการร่วมตามวรรคสอง และ
    ให้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทำหน้าที่เลขานุการด้วย
  • ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องคดีเอง ห้ามมิให้พนักงานอัยการรับแก้ต่างคดีให้แก่จำเลย
  • ระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง มิให้นับรวมระยะเวลาที่ต้องดำเนินการตามวรรคสองและวรรคสามด้วย
  • ระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรานี้ ในกรณีมีเหตุอันจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อัยการสูงสุด
    หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจขยายออกไปก็ได้ แต่ต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของระยะเวลาที่กำหนดไว้ และ
    เมื่ออัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขยายเวลาแล้วให้แจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ในการปฏิบัติหน้าที่
    และการขยายระยะเวลาต้องคำนึงถึงอายุความในการดำเนินคดีประกอบด้วย
  • การฟ้องคดีเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามที่กำหนดในมาตรานี้ย่อมกระทำได้ถ้าได้ฟ้องภายในอายุความ
    แต่ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการอัยการ อัยการสูงสุด หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วแต่กรณี
    ต้องดำ เนินการสอบสวน หากปรากฏว่าการไม่ปฏิบัติภายในระยะเวลาดังกล่าวเกิดจากการจงใจ
    ปล่อยปละละเลย หรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใด ให้ดำเนินการเพื่อลงโทษผู้นั้นต่อไปโดยเร็ว

มาตรา ๗๘

  • ในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
    ให้อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหามาศาลในวันฟ้องคดี เว้นแต่ในกรณี
    ที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกควบคุมตัวอยู่ก่อนแล้วตามมาตรา ๓๙ ให้อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช.
    แจ้งให้พนักงานสอบสวนนำตัวบุคคลดังกล่าวมาศาลในวันฟ้องคดี
  • ในกรณีที่อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งผู้ถูกกล่าวหาตามวรรคหนึ่งแล้ว
    แต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุต่อศาล อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ที่อัยการสูงสุด
    คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายมีอำนาจขอให้ศาลออกหมายจับได้

มาตรา ๗๙

  • ในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง
    ทางการเมืองมีคำพิพากษาแล้วถ้าอัยการสูงสุดเห็นควรอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาต่อไป
    ให้ดำเนินการได้
  • กรณีที่อัยการสูงสุดเห็นควรไม่อุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบและ
    รับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกอบการพิจารณาด้วย
  • ในคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ การจะอุทธรณ์หรือไม่ให้เป็นไปตามมติของ
    คณะกรรมการ ป.ป.ช.

มาตรา ๘๐

  • ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟ้องคดีเอง คณะกรรมการ ป.ป.ช.
    จะพิจารณามอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือจะพิจารณาแต่งตั้ง
    ทนายความเพื่อดำเนินคดีแทนก็ได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

มาตรา ๘๑

  • ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับฟ้อง
    ตามมาตรา ๗๗ ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญา
    ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง
    ทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้ต้องคำพิพากษานั้น
    พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และ
    จะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้
  • ผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าในกรณีใด ผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือ
    สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป
    และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ

มาตรา ๘๒

  • ในการฟ้องคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
    หากการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในทางทรัพย์สินหรือเป็นการละเมิด
    ต่อหน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลอื่น อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วแต่กรณี อาจยื่นคำร้อง
    ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนการกระทำหรือคำสั่งอันมิชอบที่เป็นการละเมิดนั้นก็ได้
  • สำหรับความเสียหายตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้หน่วยงานของรัฐ
    ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป
  • การยื่นคำร้องขอตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงการเพิกถอนสิทธิหรือเอกสารสิทธิ
    ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐอนุมัติหรืออนุญาต หรือกระทำการใดไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายด้วย

มาตรา ๘๓

  • ในการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
    ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดได้ใช้หรือได้ทรัพย์สินมาโดยมิชอบ เนื่องจาก
    การกระทำ ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำ นาจขัดต่อบทบัญญัติ
    แห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วแต่กรณี อาจร้องขอให้
    ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้ เว้นแต่เป็นทรัพย์สิน
    ของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด

(๑) ทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด

(๒) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้ให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้แก่
ผู้ถูกกล่าวหาโดยมิชอบ

(๓) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการกระทำความผิด
หรือจากการเป็นผู้ใช้ ผู้สนับสนุน หรือผู้โฆษณาหรือประกาศให้ผู้อื่นกระทำความผิด

(๔) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการจำหน่าย จ่าย
โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (๑) หรือ (๓)

(๕) ดอกผลหรือประโยชน์อื่นใดอันเกิดจากทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (๑) (๓) หรือ (๔)

มาตรา ๘๔

  • เพื่อประโยชน์ในการร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง
    ทางการเมืองริบทรัพย์สินตามมาตรา ๘๓ คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินนั้น
    ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ทรัพย์สินนั้นมา หรือมูลค่าของทรัพย์สินนั้นในขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.
    มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดแล้วแต่ว่ามูลค่าในขณะใดจะมากกว่ากัน และขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญา
    ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งให้ชำระเงินหรือสั่งให้ริบทรัพย์สินอื่นของผู้กระทำความผิดแทน
    ตามมูลค่าดังกล่าวได้
  • ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งริบทรัพย์สินเนื่องจาก
    การกระทำความผิด แม้คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด ให้เลขาธิการมีอำนาจเก็บรักษาและจัดการทรัพย์สินดังกล่าว
    จนกว่าคดีถึงที่สุด หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

มาตรา ๘๕

  • การเก็บรักษาและการจัดการทรัพย์สินตามมาตรา ๖๙ และมาตรา ๘๔
    ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
  • ในกรณีที่ทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งไม่เหมาะสมที่จะเก็บรักษาไว้ หรือหากเก็บรักษาไว้จะเป็นภาระ
    แก่ทางราชการมากกว่าการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เลขาธิการอาจสั่งให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทรัพย์สินนั้น
    ไปดูแลและใช้ประโยชน์โดยมีประกันหรือหลักประกันหรือให้นำทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด หรือ
    นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการแล้วรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบก็ได้
  • การให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทรัพย์สินไปดูแลและใช้ประโยชน์ การนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดหรือ
    การนำทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ของทางราชการตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ
    ป.ป.ช. กำหนด
  • ถ้าความปรากฏในภายหลังว่า ทรัพย์สินที่นำออกขายทอดตลาดหรือที่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของ
    ทางราชการตามวรรคสอง มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดให้คืนทรัพย์สินนั้นพร้อมทั้ง ชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสื่อมสภาพตามจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง
    ถ้าไม่อาจคืนทรัพย์สินได้ ให้ชดใช้ราคาทรัพย์สินนั้นตามราคาที่ประเมินได้ในวันที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน
    หรือตามราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครอง
    ได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงิน
    ที่ได้รับคืนหรือชดใช้ราคา แล้วแต่กรณี
  • การประเมินค่าเสียหายและค่าเสื่อมสภาพตามวรรคสี่ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ
    ป.ป.ช. กำหนด

มาตรา ๘๖

  • ในกรณีที่มีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง
    ทางการเมืองถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่ง
    ในองค์กรอิสระ หยุดปฏิบัติหน้าที่อยู่ และยังมิได้พ้นจากตำแหน่งไปก่อน ก็ให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่
    ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และถ้าในระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่มิได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง
    ค่าตอบแทน หรือประโยชน์อื่นใด ก็ให้มีสิทธิได้รับเสมือนหนึ่งผู้นั้นได้ปฏิบัติหน้าที่ตลอดระยะเวลา
    ที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ในกรณีที่ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปก่อนที่จะมีคำพิพากษา การจ่ายเงินเดือน
    เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทน หรือประโยชน์อื่นใด ให้จ่ายจนถึงวันก่อนวันที่พ้นจากตำแหน่ง
 
       
All right reserved      
admin@livinginthailand.lcom