Living in Thailand

กฏกระทรวง

 

     
     

กฏกระทรวง

สุขลักษณะการจัดการสิ่งปฏิกูล พ.ศ. ๒๕๖๑


หมวด ๑
สุขลักษณะของส้วม

 

ข้อ ๖

  • เจ้าของหรือผู้ครอบครองบ้านพักอาศัย อาคาร หรือสถานที่ที่มีส้วมต้องจัดให้มี
    ระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลแบบติดกับที่หรือต้องต่อท่อไปยังระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลรวมตามข้อ ๑๔ วรรคหนึ่ง (๒)
  • ในกรณีที่ระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลตามวรรคหนึ่งเป็นระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลแบบติดกับที่เมื่อระบบ
    กำจัดสิ่งปฏิกูลแบบติดกับที่เต็มหรือเลิกใช้งาน ต้องขนสิ่งปฏิกูลไปกำจัดที่ระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลรวม
    ตามข้อ ๑๔ วรรคหนึ่ง (๒)
  • การนำน้ำทิ้งและกากตะกอนที่ผ่านการกำจัดสิ่งปฏิกูลออกจากระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลตามวรรคหนึ่ง
    น้ำทิ้งและกากตะกอนนั้นต้องได้มาตรฐานตามข้อ ๑๕ วรรคหนึ่ง

ข้อ ๗

  • เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสถานที่ที่ให้บริการส้วมสาธารณะต้องดำเนินการ
    ให้ส้วมสาธารณะถูกสุขลักษณะตลอดเวลาที่เปิดให้บริการ ดังต่อไปนี้

(๑) ดูแลพื้น ผนัง เพดาน โถส้วม โถปัสสาวะ และที่เปิดและปิดน้ำของโถส้วมและโถปัสสาวะ
ให้สะอาด รวมทั้งต้องบำรุงรักษาให้พร้อมใช้งาน

(๒) จัดให้มีน้ำใช้ที่สะอาดและเพียงพอสำหรับใช้งาน

(๓) จัดให้มีอ่างล้างมือพร้อมสบู่หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดสำหรับทำความสะอาดมือซึ่งพร้อมใช้งาน

(๔) จัดให้มีภาชนะรองรับมูลฝอยทั่วไปที่ถูกสุขลักษณะ สะอาด และอยู่ในสภาพดี ไม่รั่วซึม
ตั้งอยู่ในบริเวณอ่างล้างมือหรือบริเวณใกล้เคียง

(๕) จัดให้มีสายฉีดน้ำชำระที่สะอาดและอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน หรือกระดาษชำระชนิดยุ่ย
และกระจายตัวได้ง่ายเมื่อเปียกน้ำซึ่งสามารถทิ้งลงในโถส้วมได้ ในกรณีที่กระดาษชำระเป็นชนิด
ที่ไม่สามารถทิ้งลงในโถส้วมได้หรือระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลไม่สามารถรองรับกระดาษชำระได้ให้รวบรวม
กระดาษชำระที่ใช้แล้วใส่ที่รองรับมูลฝอยที่ถูกสุขลักษณะ สะอาด มีฝาปิดมิดชิด อยู่ในสภาพดี ไม่รั่วซึม
และเก็บขนไปกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากกระดาษชำระที่ใช้แล้ว

(๖) ในส้วม ต้องมีการถ่ายเทอากาศที่ดีหรือระบบระบายอากาศเพื่อการถ่ายเทอากาศที่ดี

(๗) ประตูห้องส้วม ต้องมีที่จับเปิดและปิดที่สะอาด มีอุปกรณ์ยึดประตูด้านในที่สามารถ
ไขจากด้านนอกได้ โดยประตูต้องเปิดออกจากด้านใน เป็นบานพับ บานเลื่อน หรือเป็นรูปแบบอื่น
เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือผู้ใช้บริการในกรณีหมดสติได้

(๘) ดำเนินการอื่นใดตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกาศกำหนด
ในราชกิจจานุเบกษา

  • ให้นำข้อ ๖ มาใช้บังคับกับส้วมสาธารณะด้วยโดยอนุโลม
  • ประเภทของอาคารหรือสถานที่ที่ให้บริการส้วมสาธารณะซึ่งต้องดำเนินการตามวรรคหนึ่งและ
    วรรคสอง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

ข้อ ๘

  • เจ้าของหรือผู้ครอบครองยานพาหนะหรือแพที่มีส้วมเคลื่อนที่ ต้องดำเนินการ
    ให้ส้วมเคลื่อนที่ถูกสุขลักษณะตลอดเวลาที่เปิดให้บริการ โดยให้นำสุขลักษณะในข้อ ๗ วรรคหนึ่ง
    มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม และให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) จัดให้มีถังเก็บกักสิ่งปฏิกูลที่สามารถรองรับสิ่งปฏิกูลได้มากกว่าถังเก็บกักน้ำสะอาด
โดยท่อระบายและถังเก็บกักสิ่งปฏิกูลต้องอยู่ในสภาพดี ไม่แตกหรือชำรุด และสามารถป้องกันสัตว์
แมลง หรือพาหะนำโรคได้ ทั้งนี้ ถังเก็บกักสิ่งปฏิกูลต้องมีท่อระบายอากาศที่สูงพ้นหลังคาของยานพาหนะ
หรือแพ หรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่ส่งกลิ่นเหม็นรบกวน

(๒) เมื่อถังเก็บกักสิ่งปฏิกูลเต็มหรือเลิกใช้งาน ต้องขนสิ่งปฏิกูลไปกำจัดในระบบกำจัดสิ่งปฏิกูล
ที่ได้มาตรฐานตามข้อ ๑๔

(๓) ในกรณีที่ส้วมเคลื่อนที่มีระบบกำจัดสิ่งปฏิกูล การระบายน้ำทิ้งและกากตะกอนต้องผ่าน
การกำจัดสิ่งปฏิกูลแล้ว โดยน้ำทิ้งและกากตะกอนนั้นต้องได้มาตรฐานตามข้อ ๑๕ วรรคหนึ่ง

(๔) ดำเนินการอื่นใดตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกาศกำหนด
ในราชกิจจานุเบกษา

  • ในกรณีที่แพใช้เป็นที่อยู่อาศัยประจำหรือแพที่มีส้วมเคลื่อนที่ ซึ่งไม่มีถังเก็บกักสิ่งปฏิกูล
    หรือไม่สามารถสูบสิ่งปฏิกูลจากถังเก็บกักสิ่งปฏิกูลไปกำจัดได้ ให้แพดังกล่าวจัดให้มีส้วมไว้บนพื้นดิน
    โดยให้นำข้อ ๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ข้อ ๙

  • ผู้ที่จัดให้มีส้วมชั่วคราว ต้องจัดให้ส้วมชั่วคราวตั้งอยู่ในบริเวณที่มีความปลอดภัยต่อชีวิต
    และทรัพย์สินของผู้ใช้บริการ และต้องดำเนินการให้ส้วมชั่วคราวถูกสุขลักษณะตลอดเวลาที่เปิดให้บริการ
    ดังต่อไปนี้

(๑) พื้น ผนัง หลังคา และประตูของห้องส้วม รวมทั้งสุขภัณฑ์มีความปลอดภัย มั่นคง
แข็งแรง ทนทานต่อการรับน้ำหนัก ไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุต่อผู้ใช้บริการ และดูแลให้สะอาด
พร้อมใช้งานอยู่เสมอ รวมทั้งมีการถ่ายเทอากาศที่ดี

(๒) จัดให้มีน้ำใช้ที่สะอาดและเพียงพอสำหรับใช้งาน

(๓) จัดให้มีอ่างล้างมือพร้อมสบู่หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดสำหรับทำความสะอาดมือซึ่งพร้อมใช้งาน

(๔) จัดให้มีสายฉีดน้ำชำระที่สะอาดและอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน หรือกระดาษชำระชนิดยุ่ย
และกระจายตัวได้ง่ายเมื่อเปียกน้ำซึ่งสามารถทิ้งลงในโถส้วมได้ ในกรณีที่กระดาษชำระเป็นชนิดที่ไม่สามารถ
ทิ้งลงในโถส้วมได้หรือระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลไม่สามารถรองรับกระดาษชำระได้ให้รวบรวมกระดาษชำระ
ที่ใช้แล้วใส่ที่รองรับมูลฝอยที่ถูกสุขลักษณะ สะอาด มีฝาปิดมิดชิด อยู่ในสภาพดี ไม่รั่วซึม และเก็บขน
ไปกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากกระดาษชำระที่ใช้แล้ว

(๕) จัดให้มีระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลตามข้อ ๖ วรรคหนึ่ง หรือจัดให้มีถังเก็บกักสิ่งปฏิกูลตามข้อ ๘
วรรคหนึ่ง (๑) และเมื่อถังเก็บกักสิ่งปฏิกูลเต็มต้องขนสิ่งปฏิกูลไปกำจัดในระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลรวม
ตามข้อ ๑๔ วรรคหนึ่ง (๒)

(๖) เมื่อเสร็จสิ้นการใช้งาน ต้องกำจัดสิ่งปฏิกูลที่ตกค้างอย่างถูกต้อง และรื้อถอน รวมทั้งปรับพื้นที่
ให้อยู่ในสภาพที่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

(๗) ดำเนินการอื่นใดตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกาศกำหนด
ในราชกิจจานุเบกษา

 
       
All right reserved      
admin@livinginthailand.lcom