Living in Thailand

พระราชบัญญัติ

หน้าแรก Live in Living

     
     

พระราชบัญญัติ

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑


หมวด ๒
การบริหารกิจการกองทุน

 

มาตรา ๑๘

  • ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประกอบด้วย

(๑) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นประธานกรรมการ

(๒) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนหนึ่งคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งตามคำแนะนำของ
คณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย

(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนหกคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากภาควิชาการ ภาคเอกชน
และภาคประชาสังคม ภาคละสองคน ซึ่งอย่างน้อยต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายหนึ่งคน

(๔) กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวนแปดคน ได้แก่ ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ จำนวนสองคน
ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนกรมกิจการเด็กและเยาวชน ผู้แทนกรมบัญชีกลาง
ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และผู้แทนกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

  • ให้ผู้จัดการเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ผู้จัดการแต่งตั้งพนักงานจำนวนไม่เกินสองคน
    เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

มาตรา ๑๙

  • ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีสัญชาติไทย มีความรู้
    ความสามารถ หรือประสบการณ์ด้านกฎหมาย การพัฒนาการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การบริหารการเงินการคลัง หรือการอื่นอันจะเป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของกองทุน มีผลงาน
    เป็นที่ประจักษ์ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

(๒) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๓) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น
กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งบริหารในพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่
ในพรรคการเมือง เว้นแต่ได้พ้นจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันที่ได้รับแต่งตั้ง

(๔) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานของเอกชน
เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ

(๕) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวย
ผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วย
การป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(๖) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่
ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ
หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมาย
ว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า
ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก หรือกฎหมายว่าด้วย
การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน

(๗) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง

มาตรา ๒๐

  • ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๑๘ (๒) และ (๓)
    มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
  • ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบกำหนดสองปี ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๑๘ (๓) ที่แต่งตั้ง
    จากภาคต่าง ๆ ภาคละหนึ่งคนพ้นจากตำแหน่งโดยวิธีการจับสลาก และให้ถือว่าการพ้นจากตำแหน่ง
    โดยการจับสลากดังกล่าวเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ
  • เมื่อประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะพ้นจากตำแหน่งเพราะครบวาระตามวรรคหนึ่ง
    ให้ดำเนินการเพื่อแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จก่อนครบวาระ
    ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ในกรณีที่ยังไม่ได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานกรรมการ
    หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

มาตรา ๒๑

  • นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
    พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๙

(๔) คณะกรรมการมีมติให้ออกจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของ
จำนวนกรรมการเท่าที่มีอยู่ เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสีย

(๕) คณะกรรมการมีมติให้พ้นจากตำ แหน่งเพราะเหตุมีส่วนได้เสียในกิจการของกองทุน
ตามมาตรา ๓๗

(๖) ขาดการประชุมคณะกรรมการสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามหลักเกณฑ์
ที่คณะกรรมการกำหนด

(๗) คณะรัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่

มาตรา ๒๒

  • ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ
    ให้ดำเนินการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตำแหน่งที่ว่างภายในหกสิบวัน
    นับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง ในระหว่างที่ยังมิได้มีการแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้คณะกรรมการ
    ดำเนินการต่อไปได้โดยให้ถือว่าคณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่
  • ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง อยู่ในวาระ
    เท่าที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

มาตรา ๒๓

  • ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานของกองทุนเพื่อให้การดำเนินงาน
ของกองทุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ซึ่งต้องสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ
และแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศด้วย

(๒) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการและผลการศึกษา วิจัย หรือค้นคว้า
ที่เป็นประโยชน์ต่อการลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ

(๓) พิจารณาอนุมัติแผนการดำเนินงาน แผนการพัฒนานวัตกรรม แผนบริหารความเสี่ยง และ
งบประมาณรายจ่ายประจำปีของกองทุน

(๔) ควบคุมดูแลและจัดให้มีการประเมินผลการดำ เนินงานของกองทุนเพื่อให้เป็นไป
ตามวัตถุประสงค์ นโยบาย เป้าหมาย และแนวทางตาม (๑) และแผนและงบประมาณตาม (๓)
โดยต้องสอดคล้องกับหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

(๕) ออกระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การเงิน การจัดซื้อจัดจ้าง การพัสดุ การบัญชี
การตรวจสอบภายใน การบริหารความเสี่ยง การติดตาม การประเมินผล และการเปิดเผยผลการทำงาน
และระเบียบอื่นใดที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของกองทุน

(๖) ออกระเบียบเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบข้อมูลและการช่วยเหลือเด็กปฐมวัย
เด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้ด้อยโอกาส ครอบครัว
ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และครู

(๗) ออกระเบียบเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญในการจัดสรรเงินกองทุน
เพื่อใช้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕

(๘) ออกระเบียบเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสรรหาผู้จัดการ

(๙) ออกระเบียบและประกาศเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

(๑๐) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

(๑๑) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นหน้าที่หรืออำนาจ
ของคณะกรรมการ

  • ในการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานตาม (๑) ให้คณะกรรมการ
    รับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณาด้วย
  • นโยบาย เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานตาม (๑) และแผนและงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ
    ตาม (๓) ให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย
  • ระเบียบตาม (๕) (๖) (๗) และ (๘) เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
    และให้คณะกรรมการจัดให้มีการทบทวนความเหมาะสมของระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยทุกรอบห้าปี
    นับแต่วันที่ระเบียบนั้นมีผลใช้บังคับโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณาด้วย
  • ความในวรรคสี่ให้ใช้บังคับแก่การออกระเบียบและประกาศตาม (๙) ที่มีผลใช้บังคับแก่
    บุคคลทั่วไปด้วยโดยอนุโลม
  • การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานตาม (๑๐) ให้กระทำเพียงเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึง
    ประสิทธิภาพในการดำเนินงานและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินของกองทุน และให้กำหนดภารกิจและ
    กรอบเวลาดำเนินงานของคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานให้ชัดเจน

มาตรา ๒๔

  • เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ให้คณะกรรมการ
    มีอำนาจขอข้อมูลส่วนบุคคลที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของกองทุนอันมิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ
    หรือเป็นความลับของทางราชการที่อยู่ในความครอบครองของส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นได้ ตามหลักเกณฑ์
    วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
  • การเปิดเผยข้อมูลตามวรรคหนึ่งให้แก่คณะกรรมการ ให้ถือว่าเป็นการเปิดเผยเพื่อประโยชน์
    ในการปฏิบัติการตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในความครอบครองของกองทุนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ
    และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด แต่ต้องไม่กระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคล และ
    ให้เปิดเผยได้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของกองทุนตามวัตถุประสงค์ของกองทุน

มาตรา ๒๕

  • การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน
    กรรมการทั้งหมดที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม
  • ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
    ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
  • การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม ถ้าพระราชบัญญัตินี้มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้ถือเสียงข้างมาก
    กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียง
    เพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๒๖

  • ในการพิจารณาเรื่องใด ๆ โดยคณะกรรมการ เมื่อคณะกรรมการมีมติ
    เป็นประการใดแล้ว ให้มติของคณะกรรมการผูกพันส่วนราชการซึ่งมีผู้แทนร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย
    แม้ว่าในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องนั้น ผู้แทนส่วนราชการที่เป็นกรรมการจะมิได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยก็ตาม
    ถ้ามีความเห็นแตกต่างกัน ให้บันทึกความเห็นของกรรมการทุกฝ่ายไว้ให้ปรากฏในเรื่องนั้นด้วย

มาตรา ๒๗

  • ให้ประธานกรรมการและกรรมการได้รับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ตามที่
    คณะรัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๒๘

  • ให้อนุกรรมการและคณะทำงานได้รับค่าตอบแทนตามที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๒๙

  • ให้มีสำนักงานมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) ดำเนินงานต่าง ๆ ของกองทุนและประสานความร่วมมือกับส่วนราชการและองค์กรต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้อง

(๒) ทำหน้าที่ธุรการและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ

(๓) ศึกษา วิจัย ค้นคว้า และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน

(๔) สนับสนุนและเผยแพร่ผลการศึกษา วิจัย ค้นคว้า และพัฒนาองค์ความรู้ตาม (๓) และ
การนำผลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ ตลอดจนประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการดังกล่าว

(๕) ส่งเสริมและรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการบริจาคหรือให้การสนับสนุนกิจการของ
สถานศึกษาหรือของกองทุน

(๖) จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของกองทุนเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ

(๗) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

มาตรา ๓๐

  • ให้คณะกรรมการแต่งตั้งผู้จัดการจากบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยมีอายุไม่ต่ำกว่า
    สามสิบห้าปีแต่ไม่เกินหกสิบห้าปี รวมทั้งสามารถปฏิบัติงานให้แก่กองทุนได้เต็มเวลา และไม่มีลักษณะต้องห้าม
    ดังต่อไปนี้

(๑) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๙

(๒) เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ
หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

(๓) เป็นกรรมการผู้จัดการหรือลูกจ้างของบุคคลใด เว้นแต่เป็นกิจการของกองทุน

(๔) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับกองทุน หรือในกิจการที่กระทำให้แก่กองทุน ไม่ว่าโดยตรง
หรือโดยอ้อม เว้นแต่คณะกรรมการมอบหมายให้เป็นกรรมการในบริษัทที่กองทุนเป็นผู้ถือหุ้นหรือ
เป็นคู่สัญญา

มาตรา ๓๑

  • คุณวุฒิ ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ วิธีการสรรหา การดำรงตำแหน่ง
    การพ้นจากตำแหน่ง ค่าจ้าง ค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ สวัสดิการ และการทดลองปฏิบัติงานหรือ
    การปฏิบัติงานในหน้าที่ผู้จัดการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
  • ในการจ้างผู้จัดการให้ทำเป็นสัญญาจ้าง ซึ่งอย่างน้อยต้องมีข้อความระบุให้ผู้จัดการต้องผูกพัน
    และปฏิบัติตามระเบียบตามวรรคหนึ่ง โดยให้มีอายุสัญญาจ้างคราวละไม่เกินสี่ปี และเมื่อครบกำหนดอายุ
    สัญญาจ้างแล้ว คณะกรรมการจะต่ออายุสัญญาจ้างอีกก็ได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
  • การทำสัญญาจ้างผู้จัดการ ให้ประธานกรรมการเป็นผู้มีอำนาจทำสัญญาในนามของกองทุน

มาตรา ๓๒

  • นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามสัญญาจ้าง ผู้จัดการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๐

(๔) คณะกรรมการมีมติให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือ
หย่อนความสามารถ ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการเท่าที่มีอยู่ โดยไม่นับรวม
ผู้จัดการ

(๕) ไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานสองปีติดต่อกัน

มาตรา ๓๓

  • ให้ผู้จัดการเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้าง และรับผิดชอบการบริหาร
    กิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ นโยบาย และมติของ
    คณะกรรมการ

มาตรา ๓๔

  • การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และการจ้างพนักงานและลูกจ้าง
    ให้คำนึงถึงหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ประสิทธิภาพในการดำเนินงานและความคุ้มค่าใน
    การใช้จ่ายเงินของกองทุน

มาตรา ๓๕

  • ในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้จัดการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการ
  • ในกิจการของกองทุนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้จัดการเป็นผู้แทนของกองทุน เพื่อการนี้
    ผู้จัดการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ นิติกรรมใดที่ผู้จัดการหรือ
    ผู้ได้รับมอบอำนาจกระทำต่อบุคคลภายนอกที่จะต้องรายงานหรือขออนุมัติต่อคณะกรรมการก่อนกระทำการ
    ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
  • นิติกรรมที่กระทำโดยฝ่าฝืนระเบียบตามวรรคสอง ย่อมไม่ผูกพันกองทุน เว้นแต่คณะกรรมการ
    จะให้สัตยาบัน

มาตรา ๓๖

  • การรักษาการแทนและการปฏิบัติการแทนผู้จัดการ ให้เป็นไปตามระเบียบ
    ที่คณะกรรมการกำหนด
  • ให้ผู้รักษาการแทนผู้จัดการมีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับผู้จัดการ
  • ในกรณีที่ผู้รักษาการแทนมอบหมายหรือมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติการแทน
    ให้ผู้ปฏิบัติการแทนมีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับผู้ซึ่งมอบหมายหรือมอบอำนาจ
  • ในกรณีที่มีกฎหมายอื่นแต่งตั้งให้ผู้จัดการเป็นกรรมการหรือให้มีหน้าที่หรืออำนาจอย่างใด
    ให้ผู้รักษาการแทนหรือผู้ปฏิบัติการแทนเป็นกรรมการหรือมีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งนั้น
    ในการรักษาการแทนหรือปฏิบัติการแทนด้วย แล้วแต่กรณี

มาตรา ๓๗

  • ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน และลูกจ้างที่มีหน้าที่และ
    อำนาจในการบริหารงานในสำนักงานตามที่คณะกรรมการกำหนด ต้องไม่มีส่วนได้เสียในกิจการของกองทุน
    ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
  • ให้คณะกรรมการมีอำนาจวินิจฉัยว่าการกระทำใดของบุคคลตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำที่ถือว่า
    เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการของกองทุน
  • ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่กรณีบุคคลในครอบครัวของบุคคลตามวรรคหนึ่งตามที่
    คณะกรรมการกำหนดซึ่งได้รับการช่วยเหลือหรือรับทุนจากกองทุนตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่ใช้บังคับ
    แก่บุคคลทั่วไป
  • ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน และลูกจ้างตามวรรคหนึ่งเป็นเจ้าพนักงาน
    ตามประมวลกฎหมายอาญา
 
       
All right reserved      
admin@livinginthailand.lcom