มาตรา ๕
- ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า “กองทุนเพื่อความเสมอภาค
ทางการศึกษา” มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา รวมทั้งมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
(๑) ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ
ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม เพื่อให้เด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กปฐมวัย ได้รับการพัฒนา
ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย
(๒) ให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนเงินและค่าใช้จ่ายให้แก่เด็กและเยาวชน
ซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส และผู้ด้อยโอกาส จนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน
(๓) เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูให้มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอน
สามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนตามพื้นฐานและศักยภาพที่แตกต่างกัน
(๔) ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส
ให้ได้รับการศึกษาหรือพัฒนา เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดและ
มีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้
(๕) ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือสถานศึกษา เพื่อให้มีการเรียนการสอนที่ทำให้
ผู้เรียนสามารถรู้และพัฒนาได้ตามความถนัดและศักยภาพของตน
(๖) ดำเนินการหรือจัดให้มีการศึกษา วิจัย หรือค้นคว้าแนวทางในการพัฒนาครู ให้มีจิตวิญญาณ
ของความเป็นครู มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีความรู้ และมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนและ
การพัฒนาผู้เรียนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาโดยมีแรงจูงใจที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมหรือ
สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู
(๗) ดำเนินการหรือจัดให้มีการศึกษา วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา
สนองความต้องการทางด้านกำลังแรงงาน และการยกระดับความสามารถของคนไทย
- การขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสตาม (๒) และ (๔) ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
ในการนี้ ให้คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณาด้วย
- ในการดำเนินการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามวรรคหนึ่ง กองทุนจะดำเนินการเองหรือร่วมกับ
หน่วยงานอื่นของรัฐหรือภาคเอกชนในการดำเนินการก็ได้
มาตรา ๖
- กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
(๑) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาตามมาตรา ๔๗ และมาตรา ๔๘
(๒) เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นทุนประเดิมจำนวนหนึ่งพันล้านบาท
(๓) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปีตามแผนการใช้เงินที่คณะกรรมการและคณะรัฐมนตรี
ให้ความเห็นชอบแล้ว
(๔) เงินรายได้ที่ได้รับจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
(๕) รายได้จากการดำเนินงานและการลงทุนของกองทุน
(๖) เงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้
(๗) รายได้หรือผลประโยชน์อื่นที่กองทุนได้รับไม่ว่าโดยทางใด
(๘) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินของกองทุน
เงินอุดหนุนตาม (๓) ให้รัฐบาลจัดสรรให้เพียงพอตามแผนการใช้เงินตาม (๓) และต้องสอดคล้องกับ
ยุทธศาสตร์ชาติและแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศด้วย
มาตรา ๗
- ผู้บริจาคเงินให้แก่กองทุนมีสิทธินำจำนวนเงินที่บริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนหรือ
รายจ่ายเช่นเดียวกับการบริจาคเพื่อการศึกษาตามประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ในการดำ เนินการ
ของกรมสรรพากรเกี่ยวกับการหักค่าลดหย่อนหรือรายจ่ายดังกล่าว ให้กรมสรรพากรรับฟังความคิดเห็น
ของคณะกรรมการประกอบด้วย
มาตรา ๘
- ให้กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐและมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการ
ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
และกฎหมายอื่น
- เงินและทรัพย์สินของกองทุนไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
มาตรา ๙
- กิจการของกองทุนไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
มาตรา ๑๐
- กองทุนมีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๕ และ
อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
๑) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ
(๒) ก่อตั้งสิทธิหรือกระทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร
(๓) ลงทุนหาผลประโยชน์จากเงินและทรัพย์สินของกองทุน
(๔) กระทำการอื่นใดที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
- การลงทุนตาม (๓) ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๑๑
- เงินของกองทุนให้นำไปใช้จ่ายเพื่อการดังต่อไปนี้
(๑) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามมาตรา ๕ และมาตรา ๑๐
(๒) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน
(๓) ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องหรือเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๑๒
- ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ ถ้าเป็นกรณีที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงิน
แก่ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส กองทุนจะให้ความช่วยเหลือโดยวิธีให้เปล่า ให้ยืม หรือให้กู้ยืมก็ได้
ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๑๓
- เพื่อประโยชน์ในการลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา กองทุนจะดำเนินการเอง
หรือจะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา หรือหน่วยงานอื่นก็ได้
ในการนี้ ให้กองทุนมีอำนาจสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่หน่วยงานดังกล่าวได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และ
เงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๑๔
- ในการดำเนินการหรือจัดให้มีการศึกษา วิจัย หรือค้นคว้าแนวทางในการพัฒนาครู
กองทุนจะดำเนินการเองหรือจะร่วมกับหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นหรือสถาบันอุดมศึกษาดำเนินการให้ก็ได้
และในกรณีที่สมควรจัดตั้งสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู กองทุนจะส่งเสริม สนับสนุน หรือ
ร่วมกับหน่วยงานอื่นของรัฐหรือภาคเอกชนที่ดำเนินการผลิตหรือพัฒนาครูอยู่แล้วเพื่อดำเนินการก็ได้
- การจัดตั้งและการดำเนินกิจการของสถาบันต้นแบบตามวรรคหนึ่ง มิให้นำกฎหมายว่าด้วย
โรงเรียนเอกชนและกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมาใช้บังคับ และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้
ให้ผู้ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากสถาบันต้นแบบตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการและคุรุสภาร่วมกัน
กำหนดประกอบวิชาชีพควบคุมได้ตามกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา
มาตรา ๑๕
- เงินที่ผู้รับทุนได้รับมาจากกองทุนเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา
ค่าครองชีพ และทุนเพื่อการฝึกอบรม ให้ถือว่าเป็นเงินรางวัลเพื่อการศึกษาหรือค้นคว้าในวิทยาการ
ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา ๑๖
- การใช้จ่ายเงินของกองทุนต้องเป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
เพื่อประโยชน์สูงสุดในการดำเนินการ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา และมีมาตรการป้องกัน
การทุจริตที่เหมาะสม
- กองทุนต้องเผยแพร่เป้าหมาย ตัวชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงาน ข้อมูลการดำเนินงานและ
การบริหารกองทุน รายรับ รายจ่าย รวมทั้งผลผลิต ผลลัพธ์ และความคุ้มค่าที่เกิดขึ้น
จากการใช้จ่ายเงินของกองทุนให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปเป็นระยะตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ
กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และต้องดำเนินการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้
โดยสะดวก โดยอย่างน้อยต้องเผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของกองทุน
มาตรา ๑๗
- ทรัพย์สินของกองทุนที่ใช้หรือได้มาเพื่อการดำ เนินการตามวัตถุประสงค์
ของกองทุนตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี รวมทั้งการบังคับทางปกครอง
และบุคคลใดจะยกอายุความหรือระยะเวลาในการครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับกองทุนในเรื่องทรัพย์สิน
ของกองทุนมิได้
|