Living in Thailand

พระราชบัญญัติ

 

     
     

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
พ.ศ. ๒๕๖๑


หมวด ๓
การจัดการเลือกตั้ง
ส่วนที่ ๑
จำนวนสมาชิก เขตเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้ง และที่เลือกตั้ง

 

มาตรา ๒๖

  • การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และการแบ่ง
    เขตเลือกตั้ง ให้ดำเนินการตามวิธีการ ดังต่อไปนี้

(๑) ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้าย
ก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง เฉลี่ยด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามร้อยห้าสิบคน
จำนวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน

(๒) จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณ ฑ์จำ นวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคนตาม (๑) ให้มี
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดนั้นได้หนึ่งคน โดยให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

(๓) จังหวัดใดมีราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน

(๔) เมื่อได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละจังหวัดตาม (๒) และ (๓) แล้วถ้าจำนวน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ครบสามร้อยห้าสิบคน จังหวัดใดมีเศษที่เหลือจากการคำนวณ
ตาม (๓) มากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน และให้เพิ่ม
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามวิธีการดังกล่าวแก่จังหวัดที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณนั้นในลำดับรอง
ลงมาตามลำดับจนครบจำนวนสามร้อยห้าสิบคน

(๕) จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออก
เป็นเขตเลือกตั้งเท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขต
ให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน

มาตรา ๒๗

  • ให้คณะกรรมการดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งไว้ทุกจังหวัด
    เพื่อให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าซึ่งจะต้องกำหนดตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖
    และต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละ
    เขตเลือกตั้งใกล้เคียงกัน โดยถือเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(๑) ให้รวมอำเภอต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่ติดต่อใกล้ชิดกัน ความสะดวกใน
การคมนาคมระหว่างกัน และการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน ถ้าการรวมอำเภอในลักษณะนี้จะทำให้
มีจำนวนราษฎรมากหรือน้อยเกินไป ให้แยกตำบลของอำเภอออกเพื่อให้ได้จำนวนราษฎรพอเพียงสำหรับ
การเป็นเขตเลือกตั้ง แต่จะแยกหรือรวมเฉพาะเพียงบางส่วนของตำบลไม่ได้

(๒) ในกรณีที่การกำหนดพื้นที่ตามเกณฑ์ใน (๑) จะทำให้จำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง
มีจำนวนไม่ใกล้เคียงกันหรือไม่มีสภาพเป็นชุมชนเดียวกัน ให้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งตามสภาพ
ของชุมชนที่ราษฎรมีการติดต่อกันเป็นประจำในลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกันและสามารถ
เดินทางติดต่อกันได้โดยสะดวก โดยจะต้องทำให้จำนวนราษฎรมีจำนวนใกล้เคียงกันมากที่สุด

(๓) เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองและประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบ
การพิจารณาเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งตาม (๑) และ (๒) ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ
ที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๒๘

  • เมื่อได้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้คณะกรรมการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
    และให้ใช้เขตเลือกตั้งนั้นจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่
  • ในกรณีที่มีการกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่และมีผลให้พื้นที่ของเขตเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไป
    ให้การดำเนินการใดที่ได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วก่อนมีการกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่
    เป็นอันใช้ได้

มาตรา ๒๙

  • ในกรณีที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ให้คณะกรรมการถือเขตเลือกตั้งที่มี
    การประกาศกำหนดไว้แล้วเป็นหลักและปรับปรุงแก้ไขตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๒๗ และให้นำความ
    ในมาตรา ๒๘ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

มาตรา ๓๐

  • ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าวัน ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำ
    เขตเลือกตั้งกำหนดหน่วยเลือกตั้งที่จะพึงมีในแต่ละเขตเลือกตั้ง และที่เลือกตั้งของแต่ละหน่วยเลือกตั้ง
    ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(๑) ให้ใช้เขตหมู่บ้านเป็นเขตของหน่วยเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนน้อย
จะรวมหมู่บ้านที่อยู่ติดกันตั้งแต่สองหมู่บ้านขึ้นไปเป็นหน่วยเลือกตั้งเดียวกันก็ได้ สำหรับในเขตเทศบาล
เขตกรุงเทพมหานคร หรือเขตชุมชนหนาแน่น อาจกำหนดให้ใช้เขตชุมชน แนวถนน ตรอก ซอย คลอง
หรือแม่น้ำ เป็นเขตของหน่วยเลือกตั้งก็ได้ โดยคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้งของ
ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

(๒) ให้ถือเกณฑ์จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน่วยละหนึ่งพันคนเป็นประมาณ แต่ถ้าเห็นว่าไม่เป็น
การสะดวกหรือไม่ปลอดภัยในการไปออกเสียงลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อาจกำหนดจำนวนผู้มีสิทธิ
เลือกตั้งมากกว่าจำนวนดังกล่าวก็ได้ หรือจะกำหนดหน่วยเลือกตั้งเพิ่มขึ้นโดยให้มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
น้อยกว่าจำนวนดังกล่าวก็ได้

(๓) ที่เลือกตั้งต้องเป็นสถานที่ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าออกได้สะดวก เพื่อการออกเสียงลงคะแนน
มีความเหมาะสม มีขนาดพอสมควร และควรตั้งอยู่ในย่านกลางของหน่วยเลือกตั้ง พร้อมทั้งให้มีป้ายหรือ
เครื่องหมายอื่นใดเพื่อแสดงขอบเขตบริเวณของที่เลือกตั้งไว้ด้วย ตามลักษณะของท้องที่และภูมิประเทศ
ในการออกเสียงลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในท้องที่ใดถ้าเห็นว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่
ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเพื่อความปลอดภัยของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อาจประกาศกำหนดที่เลือกตั้งนอกเขตของ
หน่วยเลือกตั้งก็ได้ แต่ต้องอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับหน่วยเลือกตั้งนั้น

  • ให้ปิดประกาศการกำหนดหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้งไว้ ณ ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับ
    ที่เลือกตั้ง
  • การเปลี่ยนแปลงเขตของหน่วยเลือกตั้งหรือที่เลือกตั้ง ให้กระทำได้โดยประกาศก่อนวันเลือกตั้ง
    ไม่น้อยกว่าสิบวัน เว้นแต่ในกรณีเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น
    จะประกาศก่อนวันเลือกตั้งน้อยกว่าสิบวันก็ได้ และให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
 
       
All right reserved      
admin@livinginthailand.lcom