ราชกิจจานุเบกษา ๓๐ มกราคม ๒๕๖๑ |
มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ
ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้ง
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของ
ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. ๒๕๖๑ |
|
โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๑๙ บัญญัติให้ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งจะต้องครอบคลุมถึงการรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ และต้องระบุให้ชัดแจ้งด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรง เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระยึดถือปฏิบัติ
มาตรฐานทางจริยธรรมนี้ให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๙ วรรคสอง ด้วย
อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๙ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ จึงร่วมกันจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมซึ่งได้รับฟังความคิดเห็นของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และ คณะรัฐมนตรีประกอบแล้ว ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑
- มาตรฐานทางจริยธรรมนี้เรียกว่า “มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. ๒๕๖๑”
ข้อ ๒
- มาตรฐานทางจริยธรรมนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓
- มาตรฐานทางจริยธรรมนี้ให้ใช้บังคับแก่บุคคล ดังต่อไปนี้
(๑) ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
(๒) ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ได้แก่ ประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และประธานกรรมการ และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
(๓) ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
(๔) หัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ได้แก่ เลขาธิการสำนักงาน ศาลรัฐธรรมนูญ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เลขาธิการคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
- มาตรฐานทางจริยธรรมนี้ให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และ คณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๙ วรรคสอง ด้วย
ข้อ ๔
- ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกันรักษาการตามมาตรฐานทางจริยธรรมนี้
หมวด ๑ มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์
ข้อ ๕
- ต้องยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ข้อ ๖
- ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและ เขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ข้อ ๗
- ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน
ข้อ ๘
- ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเอง หรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
ข้อ ๙
- ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการ ที่อาจทำให้ กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่
ข้อ ๑๐
- ต้องไม่รับของขวัญของกำนัล ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เว้นแต่เป็นการรับ จากการให้โดยธรรมจรรยา และการรับที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับให้รับได้
หมวด ๒ มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก
ข้อ ๑๑
- ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้
ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
ข้อ ๑๒
- ยึดมั่นหลักนิติธรรม และประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน
ข้อ ๑๓
- ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติ โดยไม่หวั่นไหวต่ออิทธิพล กระแสสังคม หรือแรงกดดันอันมิชอบด้วยกฎหมาย โดยคำนึงถึงสิทธิและ เสรีภาพของประชาชน
ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมแห่งสถานภาพ
ข้อ ๑๔
- รักษาไว้ซึ่งความลับในการประชุม การพิจารณาวินิจฉัย รวมทั้งเคารพต่อมติของ ที่ประชุมฝ่ายข้างมาก และเหตุผลของทุกฝ่ายอย่างเคร่งครัด
ข้อ ๑๕
- ให้ข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงแก่ประชาชนหรือสื่อมวลชนอันอยู่ในความรับผิดชอบ ของตน ถูกต้องครบถ้วนและไม่บิดเบือน
ข้อ ๑๖
- ไม่ให้คำปรึกษาแก่บุคคลภายนอก หรือแสดงความคิดเห็น หรือข้อมูลต่อสื่อสาธารณะ หรือสาธารณชน
ในเรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสียความเป็นธรรม แก่การ
ปฏิบัติหน้าที่ เว้นแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายขององค์กร
ข้อ ๑๗
- ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง
ข้อ ๑๘
- ไม่ปล่อยปละละเลยหรือยินยอมให้บุคคลในครอบครัวหรือบุคคลที่อยู่ในกำกับดูแลหรือ
ความรับผิดชอบของตน เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากคู่กรณี
หรือจากบุคคลอื่นใด ในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตน
ข้อ ๑๙
- ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ
หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของ
ประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่
ข้อ ๒๐
- ไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ จนเป็นเหตุทำให้ ผู้ถูกกระทำ
ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรือกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ โดยผู้ถูกกระทำอยู่ในภาวะ จำต้องยอมรับ
ในการกระทำนั้น
- ไม่นำความสัมพันธ์ทางเพศที่ตนมีต่อบุคคลใดมาเป็นเหตุหรือมีอิทธิพลครอบงำให้ใช้ดุลพินิจ ในการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด
หมวด ๓ จริยธรรมทั่วไป
ข้อ ๒๑
- ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกำลังความสามารถ และยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม โปร่งใสและ
ตรวจสอบได้ และปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์
ของชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม
ข้อ ๒๒
- อุทิศเวลาแก่ทางราชการ ไม่เบียดบังเวลาราชการไปประกอบธุรกิจ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือผู้อื่น
ข้อ ๒๓
- ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความเต็มใจ ให้บริการด้วยความรวดเร็ว เสมอภาค ถูกต้อง โปร่งใส ปราศจากอคติและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ข้อ ๒๔
- ดูแลรักษาและใช้ทรัพย์สินของทางราชการอย่างประหยัด คุ้มค่า โดยระมัดระวังมิให้เสียหายหรือ สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น
ข้อ ๒๕
- รักษาความลับของทางราชการตามกฎหมาย และระเบียบแบบแผนของราชการ
ข้อ ๒๖
- ปฏิบัติ กำกับดูแลหรือบังคับบัญชาเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น
ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และระบบคุณธรรม รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความสามัคคี
ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
หมวด ๔ การฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม
ข้อ ๒๗
- การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด ๑ ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง
- การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด ๒ และหมวด ๓ จะถือว่า มีลักษณะ
ร้ายแรงหรือไม่ ให้พิจารณาถึงพฤติกรรมของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ เจตนาและความร้ายแรงของ
ความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ นั้น
ข้อ ๒๘
- การดำเนินการแก่บุคคลตามข้อ ๓ ว่ากระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน ทางจริยธรรมนี้
ให้เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการนั้น
ประกาศ ณ วันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑
|
นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
ศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง
พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ |
|