รัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๕๐  
  หมวด ๑๑ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ  
  ส่วนที่ ๒ องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ  
    ๒ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาตรา ๒๕๖ - ๒๕๗    
มาตรา ๒๕๖
  • คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกหกคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ โดยต้องคำสึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้าน สิทธิมนุษยชนด้วย
  • ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติ
  • คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การถอดถอน และการกำหนดค่าติบแทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เป็นไปตามที่ กฎหมายบัญญัติ
  • กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีวาระดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแตงตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
  • ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๐๔ วรรคสาม มาตรา ๒๐๖ มาตรา ๒๐๗ และมาตรา ๒๐๙ (๒) มาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่องค์ประกอบของคณะ กรรมการสรรหาให้เป็นไปตามมาตรา ๒๔๓
  • ให้มีสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๕๗
  • คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
  1. ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำ อันเป็นการระเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการ ในกรณีที่ปรากฎว่าไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอ ให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป
  2. เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
  3. เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดในทางปกครองกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือ กฎหมาย ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
  4. ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหาย เมื่อได้รับการร้องขอจากผู้เสียหายและเป็นกรณีที่เห็นสมควรเพื่อแก้ไขปัญหา การระเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนรวม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
  5. เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย และกฎ ต่อรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครอง สิทธิมนุษยชน
  6. ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน
  7. ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการองค์การเอกชน และองค์การอื่นในด้านสิทธิมนุษยชน
  8. จัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศและเสนอต่อรัฐสภา
  9. อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • การปฎิบัติหน้าที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชนประกอบด้วย
  • คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำรวมทั้งมีอำนาจอื่นเพื่อประโยชน์ในการปฎิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ