Living in Thailand ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ....  

       
  บทสุดท้าย  
  การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  
 
 

มาตรา ๒๖๘

  • การขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมี
    พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะกระทำมิได้

มาตรา ๒๖๙

  • การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในบททั่วไป ภาค ๑ รากฐานของระบอบประชาธิปไตย
    อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานสำคัญที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
    ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามมาตรา ๒๗๑
  • หลักการพื้นฐานสำคัญตามวรรคหนึ่ง หมายถึง

(๑) หลักประกันเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนทางการเมือง

(๒) โครงสร้างของสถาบันการเมือง ซึ่งได้แก่การมีสองสภา องค์ประกอบของแต่ละสภา การตรวจสอบ
ถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

(๓) กลไกเพื่อการรักษาวินัยทางการเงิน การคลัง และการงบประมาณ

(๔) สาระสำคัญของบทบัญญัติในภาค ๓ หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

(๕) สาระสำคัญของบทบัญญัติในภาค ๔ การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง

(๖) หลักเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามบทสุดท้ายนี้

  • การแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อขยายหรือเพิ่มสิทธิเสรีภาพหรือการมีส่วนร่วมของประชาชนทางการเมือง
    หรือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของศาลหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
    ไม่ถือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานสำคัญตามมาตรานี้

ี้

มาตรา ๒๗๐

  • การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

(๑) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่า
หนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
และสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

(๒) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ

(๓) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย
และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้องกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(๔) การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ถ้าเป็นกรณีที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นด้วย

การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ

(๕) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป

(๖) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย
และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวน
สมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(๗) เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลง
พระปรมาภิไธย ให้ประธานรัฐสภาส่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่รัฐสภาเห็นชอบแล้วให้ศาลรัฐธรรมนูญ
เพื่อพิจารณาว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นได้ตราขึ้นโดยเป็นไปตามรัฐธรรมนูญนี้หรือมีข้อความขัด
หรือแย้งต่อมาตรา ๒๖๘ หรือไม่ หรือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานสำคัญตามมาตรา ๒๖๙ หรือไม่
ซึ่งต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง
รัฐธรรมนูญนั้นตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ หรือมีข้อความขัดหรือแย้งต่อมาตรา ๒๖๘
ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป แต่ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานสำคัญ
ตามมาตรา ๒๖๙ ให้ศาลรัฐธรรมนูญส่งร่างรัฐธรรมนูญนั้นกลับคืนให้รัฐสภาเพื่อพิจารณาดำเนินการตามมาตรา ๒๗๑ ต่อไป

(๘) ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่าได้ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติ
แห่งรัฐธรรมนูญนี้ หรือไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวัน
นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
ให้ใช้บังคับได้ และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕๑ และมาตรา ๑๕๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่มติยืนยันต้องมีคะแนนเสียง
ไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

มาตรา ๓๐๒

  • การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๖๙ ให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตาม
    มาตรา ๒๗๐ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๗) แล้วให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
    ส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อดำเนินการให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงประชามติ
    ก่อนนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบ
    รัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
  • ในกรณีที่ประชาชนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากไม่เห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ
    ให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป แต่ถ้าประชาชนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมาก
    เห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย
    ภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่มีการออกเสียงประชามติ เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
    และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

มาตรา ๒๗๑

  • ทุกรอบห้าปีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้สานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งไปยังสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด และองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อานาจรัฐ เพื่อให้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายละหนึ่งคน ประกอบกันเป็นคณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระประเมินผลการใช้บังคับรัฐธรรมนูญ
  • ในกรณีที่คณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระตามวรรคหนึ่งเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี พิจารณาดาเนินการตามอานาจหน้าที่ต่อไป และประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย

มาตรา ๒๗๒

  • ทุกรอบห้าปีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งไปยังสภาผู้แทนราษฎร
    วุฒิสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด และองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบ
    การใช้อำนาจรัฐ เพื่อให้ประธานรัฐสภาแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งองค์กรดังกล่าวเสนอ ฝ่ายละหนึ่งคนประกอบกันเป็น
    คณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระประเมินผลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่ทำรายงานเสนอความเห็นเกี่ยวกับการใช้บังคับ
    และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง
  • ในกรณีที่คณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระตามวรรคหนึ่งเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
    พร้อมรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
    และประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย

มาตรา ๒๗๓

  • ให้คณะองคมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะองคมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา ๒๗๔

  • ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานและรองประธานสภานิติบัญญัติห่งชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
    (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา และทำหน้าที่ประธาน
    หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
    จนกว่าจะมีการประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกตามมาตรา ๑๓๒
  • ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง ถ้าบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร
    ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
    เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
  • ในวาระเริ่มแรก หากปรากฏว่าเมื่อต้องมีการประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกตามมาตรา ๑๓๒ แล้วแต่ยังไม่มีวุฒิสภา
    ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่วุฒิสภา และให้ประธานและรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ประธาน
    และรองประธานวุฒิสภา ต่อไป จนกว่าจะมีวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่การพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่ง
    และการถอดถอนจากตำแหน่งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และกิจการใดที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ดำเนินการ
    ในระหว่างเวลาดังกล่าว ให้มีผลเป็นการดำเนินการของวุฒิสภา และในกรณีที่บทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญนี้
    หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
    เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
  • มิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๐๑ มาตรา ๑๐๒ มาตรา ๑๐๓ มาตรา ๑๐๔
    มาตรา ๑๐๗ มาตรา ๑๐๘ มาตรา ๑๐๙ มาตรา ๑๑๐ มาตรา ๑๑๑ มาตรา ๑๑๒ มาตรา ๑๑๓ มาตรา ๑๑๕
    มาตรา ๑๑๖ มาตรา ๑๑๗ บทบัญญัติเกี่ยวกับวุฒิสภาตามมาตรา ๑๑๘ มาตรา ๑๒๐ มาตรา ๑๒๑ มาตรา ๑๒๒
    มาตรา ๑๒๕ บทบัญญัติมาตรา ๑๒๗ บทบัญญัติเกี่ยวกับการต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
    ตามมาตรา ๑๙๖ วรรคสอง มาตรา ๒๐๗ วรรคสาม มาตรา ๒๓๒ มาตรา ๒๓๓ มาตรา ๒๓๗ และบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด
    ที่ห้ามมิให้บุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่งของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
    ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕๖ มาใช้บังคับกับการสิ้นสุดของสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วยโดยอนุโลม

มาตรา ๒๗๕

  • เพื่อประโยชน์ในการจัดให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่จำเป็น
    ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
    (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปและสิ้นสุดลงในวันเปิดประชุมรัฐสภา
    เป็นครั้งแรกตามมาตรา ๑๓๒ เว้นแต่นายกรัฐมนตรีจะมีประกาศให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศซึ่ง
    นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗
    แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๕๘ สิ้นสุดลงก่อนกำหนดเวลาดังกล่าว
  • เพื่อประโยชน์แห่งการขจัดส่งได้เสีย ห้ามมิให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
    สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น
    หรือเจ้าหน้าที่หรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง ภายในสองปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งกรรมาธิการยกร่าง
    รัฐธรรมนูญ แต่สำหรับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่ในวันก่อนวัน
    ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ยังคงดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไปได้

มาตรา ๒๗๖

  • ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
    และร่างพระราชบัญญัติดังต่อไปนี้ แล้วเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา
    โดยมิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๔๒ มาตรา ๑๔๔ มาตรา ๑๔๕ และมาตรา ๑๕๔ มาใช้บังคับ
    ในกรณีนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
    และร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเวลาและเงื่อนไขที่กำหนด ดังนี้

(๑) ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มา
ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ตามมาตรา ๑๕๓ (๑๐) (๑๒) และ (๑๓) ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างจาก
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

(๒) ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๑๕๓ (๔) (๕) (๖) (๗) (๙) และ (๑๑)
ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
แต่ต้องไม่ช้ากว่าการเปิดประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกตามมาตรา ๑๓๒

(๓) ร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อให้บรรลุตาม
เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนี้และได้จัดทำบัญชีรายชื่อของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสนอต่อสภานิติบัญญัติ
แห่งชาติภายในสามวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ รวมทั้งได้ยกร่างและเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติต้อง
พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

  • ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดส่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไปพร้อมกับร่างพระราชบัญญัติ
    ประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ด้วย และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
    สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา และศาล ใช้เจตนารมณ์ดังกล่าวในการจัดทำและในการวินิจฉัยเกี่ยวกับ
    ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัตินั้น
  • ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่งให้สภา
    นิติบัญญัติแห่งชาติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
    และร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญนั้นต้องประกอบด้วยบุคคลซึ่งคณะกรรมาธิการ
    ยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งร่วมเป็นกรรมาธิการด้วย
  • เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง (๑)
    หรือ (๒) แล้ว ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
    ให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๑๕๗ ส่วนร่างพระราชบัญญัติตาม
    วรรคหนึ่ง (๓) ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบแล้ว ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕๘ มาใช้บังคับ
    โดยอนุโลม ทั้งนี้ โดยให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีอำนาจขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วย
  • ในกรณีที่พ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติยังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
    ประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่งไม่แล้วเสร็จ ให้ถือเสมือนว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
    ได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการยกร่าง
    รัฐธรรมนูญเสนอ และให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาตินำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่าง
รัฐธรรมนูญเสนอ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาภายในเจ็ดวัน และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕๗ มาใช้บังคับ
แล้วให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามมาตรา ๑๕๑

(๒) ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอ
ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา ๑๕๑

  • ร่างพระราชบัญญัติใดที่สภาปฏิรูปแห่งชาติให้ความเห็นชอบและเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว
    หรือร่างพระราชบัญญัติใดที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว
    การพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นๆ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณาร่าง
    พระราชบัญญัติดังกล่าว โดยในคณะกรรมาธิการวิสามัญนั้นต้องประกอบด้วยบุคคลซึ่งสภาขับเคลื่อนการ
    ปฏิรูปประเทศเสนอไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเป็นกรรมาธิการ

มาตรา ๒๗๗

  • ในวาระเริ่มแรกนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

(๑) ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวัน
นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ตามมาตรา ๒๗๖ วรรคหนึ่ง (๑)
มีผลใช้บังคับ และมิให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการหยั่งเสียงสมาชิกพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งตามมาตรา ๗๖
วรรคสาม ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกตามมาตรานี้ และบทบัญญัติที่กำหนดให้
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งระบุว่าต้องการให้ผู้ใดผู้หนึ่งที่มีชื่อในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น หนึ่งคน
ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา ๑๐๓ มาใช้บังคับ จนกว่าจะมีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์
มาใช้กับการลงคะแนนเลือกตั้งในการนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อตามมาตรา ๑๐๓ วรรคสอง
และมาตรา ๑๑๖ (๒) เรียงลำดับตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น

(๒) ให้ดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน
นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ตามมาตรา ๒๗๖ วรรคหนึ่ง (๑) มีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้ง
สมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา ๑๑๘ (๕) และให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้
รัฐธรรมนูญนี้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกในส่วนที่เหลือจนครบจำนวน โดยคำนึงถึงที่มาตามมาตรา ๑๑๘
(๑) (๒) (๓) และ (๔) และให้สมาชิกวุฒิสภาที่ได้มาตามอนุมาตรานี้มีวาระการดำรงตำแหน่งสามปีนับแต่วัน
เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา แต่ทั้งนี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งหรือได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา
ตามอนุมาตรานี้ที่จะสมัครเข้ารับการเลือกตั้งหรือรับการสรรหาใหม่

  • ในกรณีที่บุคคลตามอนุมาตรานี้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งหรือรับการสรรหาใหม่หลังจากที่พ้นจากตำแหน่ง
    ตามอนุมาตรานี้แล้ว มิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒๑ (๕) และมาตรา ๑๒๒
    รวมทั้งบทบัญญัติเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งและการห้ามดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระตาม
    มาตรา ๑๒๓ วรรคสอง มาใช้บังคับกับบุคคลดังกล่าวในการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาคราวถัดไปหลังจากที่
    บุคคลดังกล่าวสิ้นสุดสมาชิกภาพตามอนุมาตรานี้

(๓) มิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒๑ (๕) และมาตรา ๑๒๒ วรรคสอง
มาใช้บังคับกับผู้ซึ่งเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งสมาชิกภาพสิ้นสุดลงเพราะเหตุที่วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ สิ้นสุดลง

มาตรา ๒๗๘

  • ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้คงเป็นคณะรัฐมนตรีตาม
    บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และให้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญนี้เข้ารับหน้าที่
  • ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗
    และผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
    ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และให้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะพร้อมกับคณะรัฐมนตรีที่
    บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ด้วย และในระหว่างเวลาดังกล่าว
    ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรักษาความสงบแห่งชาติคงมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้
    ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ด้วย
  • มิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๖๕
    คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖๖ การสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๗๓ มาตรา ๑๗๕
    (๓) (๕) (๘) และ (๙) มาตรา ๒๓๓ และมาตรา ๒๓๔ (๒) และ (๔) มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่ง
    นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

มาตรา ๒๗๙

  • ในวาระเริ่มแรก ให้การดำรงตำแหน่ง การปฏิบัติหน้าที่ หรือการอื่นใดที่มีอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้
    รัฐธรรมนูญนี้ เป็นไปตามระยะเวลาและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(๑) ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นตุลาการศาล
รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญนี้ และให้คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดวาระตามวาระที่มีอยู่เดิมในวันก่อนวัน
ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และให้ดำเนินการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่างให้เป็นไปตามมาตรา ๒๑๕
ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ และวิธีพิจารณาคดี
ของศาลรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑๖ และมาตรา ๒๑๗

  • บรรดาคดีหรือการใดที่อยู่ระหว่างดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญตามอนุมาตรานี้ ให้ศาลรัฐธรรมนูญตาม
    อนุมาตรานี้ดำเนินการต่อไป แต่ในระหว่างที่ยังมิได้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
    ศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ให้นำข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย
    ของศาลรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ มาใช้ไปพลางก่อน จนกว่าจะตราพระราชบัญญัติ
    ประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จตามมาตรา ๒๗๖ วรรคหนึ่ง (๒)

(๒) ให้กรรมการการเลือกตั้งซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นกรรมการการเลือกตั้งตาม
รัฐธรรมนูญนี้ และให้คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนสิ้นสุดวาระตามวาระที่มีอยู่เดิมในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
ในระหว่างเวลาดังกล่าว ถ้ามีกรณีที่กรรมการการเลือกตั้งผู้ใดต้องพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุใด ก่อนครบวาระ
ให้กรรมการการเลือกตั้งนั้นคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการการเลือกตั้งที่ได้รับการสรรหาใหม่ตามรัฐธรรมนูญนี้จะ
เข้ารับหน้าที่ และให้กรรมการการเลือกตั้งซึ่งได้รับการสรรหาใหม่นั้นดำรงตำแหน่งเพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

(๓) ให้กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญนี้ และให้คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุด
วาระตามวาระที่มีอยู่เดิมในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และให้ดำเนินการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปราม
การทุจริตแห่งชาติแทนตำแหน่งที่ว่างให้เป็นไปตามมาตรา ๒๕๓ ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติ
ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมีผลใช้บังคับ และคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ตาม
รัฐธรรมนูญนี้เข้ารับหน้าที่แล้ว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๓

(๔) ให้กรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้
รัฐธรรมนูญนี้ เป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แล้วแต่กรณี ตามรัฐธรรมนูญนี้
และให้คงดำรงตำแหน่งไปจนกว่าจะสิ้นสุดวาระตามวาระที่มีอยู่เดิมในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
และมิให้นำบทบัญญัติที่บัญญัติให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวตามมาตรา ๒๕๒ วรรคสี่ มาใช้บังคับกับ
บุคคลดังกล่าวในการแต่งตั้งกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินขึ้นใหม่เป็นครั้งแรกตาม
รัฐธรรมนูญนี้ แต่ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวได้รับการสรรหาเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
อีกวาระหนึ่งตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ไม่เกินสามปี

  • ให้กรรมการวินัยทางงบประมาณและการคลังตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินซึ่ง
    ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
    การคลังและการงบประมาณภาครัฐและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองจะมีผลใช้บังคับ

(๕) ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินหรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แล้วแต่กรณี ตามรัฐธรรมนูญนี้ และให้คงดำรงตำแหน่งต่อไป
จนกว่าจะสิ้นสุดวาระตามวาระที่มีอยู่เดิมในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และเมื่อครบสี่ปีนับแต่วันประกาศใช้
รัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการ
สิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าการคงสถานภาพตามเดิมหรือการควบรวมสององค์กรจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากกว่า
โดยพิจารณาถึงความซ้ำซ้อน ความรวดเร็ว รวมทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
ของประชาชน เป็นสำคัญ

(๖) ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งประธานศาลหรือประธานองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบ
การใช้อำนาจรัฐตามมาตรา ๒๑๒ มาตรา ๒๑๘ วรรคสองและวรรคสาม มาตรา ๒๔๘ วรรคสอง มาตรา ๒๕๒ วรรคสี่ (๔)
มาตรา ๒๕๓ วรรคสอง (๔) มาตรา ๒๕๕ วรรคสอง (๓) มาตรา ๒๕๖ วรรคสอง (๔) มาใช้บังคับกับผู้ซึ่งดำรงตำแหน่ง
ประธานศาลหรือประธานองค์กรดังกล่าวซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ โดยให้นับวาระการ
ดำรงตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นวาระการ
ดำรงตำแหน่งของประธานหรือประธานองค์กรดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญนี้ด้วย

  • ให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรานี้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญนี้และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
    หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ต่อไป จนกว่าจะมีการตราพระราชบัญญัติ
    ประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนี้ ขึ้นใช้บังคับ เว้นแต่บทบัญญัติใดขัดหรือแย้งกับ
    รัฐธรรมนูญนี้ ให้ใช้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้แทน
  • ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
    กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน
    ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จะเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ
    ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญนี้ มิได้ เว้นแต่เป็นกรณีตาม (๔)
  • ในระหว่างที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ
    พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน
    และปราบปรามการทุจริต พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือกฎหมายว่าด้วย
    คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แล้วแต่กรณี ยังไม่มีผลใช้บังคับ ถ้ามีกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
    กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
    ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แล้วแต่กรณี ต้องพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุใด
    ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
    ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน แล้วแต่กรณี นั้น
    คงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าผู้ซึ่งได้รับการสรรหาใหม่ตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่

มาตรา ๒๘๐

  • ในวาระเริ่มแรก เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติตามมาตรา ๒๖๐
    ให้รอการแต่งตั้งให้ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา และนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการโดยตำแหน่งตามมาตรา ๒๖๐ (๑)
    ไว้ก่อน จนกว่าจะได้มาซึ่งประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาและนายกรัฐมนตรี
    ตามรัฐธรรมนูญนี้ และให้ถือว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติที่ได้แต่งตั้งขึ้น
    ตามมาตรานี้ เป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติตามมาตรา ๒๖๐
  • ภายในห้าปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ถ้ามีความจำเป็นเพื่อรักษาความเป็นเอกราชของชาติบูรณภาพ
    แห่งดินแดน หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคง
    ของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจขิองประเทศ หรือมีกรณีที่เกิดความขัดแย้งอันอาจนำไปสู่ความรุนแรงขึ้นในประเทศ
    ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ทั้งการดำเนินการตามปกติของสถาบันทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ
    และคณะรัฐมนตรีไม่อาจดำเนินการเพื่อยุติกรณีดังกล่าวได้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ
    ซึ่งมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มีอำนาจใช้มาตรการที่จำเป็นสำหรับจัดการ
    กับสถานการณ์ดังกล่าวแทนได้ภายหลังจากที่ได้มีการปรึกษาหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลปกครอง
    สูงสุดแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
  • เมื่อได้ดำเนินกรตามวรรคสองแล้ว ให้ประธานกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติโดยความเห็นชอบ
    ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ มีอำนาจสั่งการระงับ ยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้
    ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหาร และให้ถือว่าคำสั่ง การกระทำ และการปฏิบัติตาม
    คำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่ง การกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และเป็นที่สุด ทั้งนี้
    เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติรายงานประธาน
    สภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด ทราบโดยเร็ว
    และแถลงให้ประชาชนทราบถึงการใช้มาตรการดังกล่าว ในกรณีที่ต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
    ให้ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
  • เมื่อได้มีการใช้อำนาจตามวรรคสอง ให้ถือว่าเป็นการเปิดสมัยประชุมรัฐสภาโดยไม่ต้องมีการตราพระราชกฤษฎีกา
    เปิดสมัยประชุม และให้ถือว่าในระหว่างที่มีการใช้อำนาจตามมาตรานี้ เป็นสมัยประชุมของรัฐสภา

มาตรา ๒๘๑

  • ในวาระเริ่มแรก มิให้นำบทบัญญัติดังต่อไปนี้ มาใช้บังคับกับกรณีต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

(๑) มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๙๐ วรรคสี่ มาใช้บังคับกับหน่วยงานซึ่งมีกฎหมายให้จัดเก็บและจัดสรรเงินจาก
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรืออากรที่มีอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ แต่ต้องดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย
ที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดเพดานขั้นสูงสุดที่ได้จัดเก็บหรือจัดสรรได้ และต้องมีกลไกการติดตามประเมินผลจากองค์กร
ที่เป็นอิสระและเป็นกลางซึ่งคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติให้ความเห็นชอบ เพื่อให้การบริหารการเงิน
และงบประมาณของหน่วยงานดังกล่าวมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
รวมทั้งต้องมีการรายงานการจัดสรรงบประมาณภายในของหน่วยงานที่ใช้จ่ายจากเงินดังกล่าว
และเงินเหลือจ่ายแต่ละปี ต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน
สองปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

(๒) มิให้นำบทบัญญัติมมาตรา ๑๙๑ วรรคสอง ที่กำหนดให้ต้องจัดทำการประมาณการรายรับและงบประมาณ
รายจ่ายประจำปี มาใช้บังคับการจัดทำงบประมาณแผ่นดินสำหรับปีงบประมาณที่ถัดจากปีงบประมาณที่ประกาศ
ใช้รัฐธรรมนูญนี้

(๓) มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๑๓ วรรคสาม มาใช้บังคับ จนกว่าจะมีการตรากฎหมายให้โอนหน่วยงานในการ
บังคับคดีมาอยู่ในสังกัดของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

(๔) มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๑๔ วรรคสาม วรรคสี่ วรรคห้า และวรรคหก มาใช้บังคับ จนกว่าจะมีการตรากฎหมาย
ในเรื่องนั้นๆ ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งกรณีตามมาตรา ๒๑๔ วรรคสามและวรรคสี่
ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ส่วนกรณีตามมาตรา ๒๑๔
วรรคห้าและวรรคหก ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้
โดยให้นับวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลดังกล่าว
อยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นวาระการดำรงตำแหน่งตามที่รัฐธรรมนูญนี้บัญญัติไว้ด้วย

(๕) มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๒๖ (๓) มาใช้บังคับกับการอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ จนกว่าจะมีการตรากฎหมาย
เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

มาตรา ๒๘๒

  • ในวาระเริ่มแรก ให้ดำเนินการต่างๆ ดังต่อไปนี้ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด

(๑) ให้ตรากฎหมายตามมาตรา ๗๔ วรรคห้า ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

(๒) ให้การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติตามมาตรา ๗๗ เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูป
และการปรองดองแห่งชาติตามมาตรา ๒๖๐ ไปจนกว่าบทบัญญัติในภาค ๔ การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง
จะสิ้นผลใช้บังคับ โดยถือว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติเป็นคณะกรรมการ
ซึ่งมีหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ

(๓) ให้ตรากฎหมายดังต่อไปนี้ให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

(ก) กฎหมายเกี่ยวกับการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามมาตรา ๒๑๐ และในระหว่างเวลาดังกล่าว
ให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
ยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการตามมาตรา ๒๑๐ ต่อไปตามรัฐธรรมนูญนี้ แต่ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑๐

(ข) กฎหมายเกี่ยวกับคณะกรรมการซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาหรือตุลาการตามมาตรา ๒๐๗ วรรคห้า ทั้งนี้ โดยให้นับวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการซึ่งเป็น องค์กรบริหารงานบุคคลดังกล่าวอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นวาระการดำรงตำแหน่งตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ด้วย

(ค) กฎหมายเกี่ยวกับการทบทวนการลงโทษทางวินัย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ของผู้พิพากษา
และตุลาการตามมาตรา ๒๐๗ วรรคหก

(ง) ให้มีการปรังปรุงกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ให้สอดคล้องกับมาตรา ๒๕๔ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต

(๔) ให้ตรากฎหมายตามมาตรา ๒๐๖ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่
ให้แล้วเสร็จภายในสามปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

(๕) ให้ออกระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีตามมาตรา ๒๒๖ (๑) ให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวัน
และตามมาตรา ๒๒๖ (๒) ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ทั้งนี้ นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา ๒๗๖ วรรคหนึ่ง (๑) ใช้บังคับ

(๖) ให้แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญา ซึ่งจัดตั้งขึ้นแล้วในวันก่อนวันประกาศใช้
รัฐธรรมนูญนี้ เป็นแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญนี้
โดยให้ใช้ระบบไต่สวนและให้ใช้สำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นหลัก
และเมื่อครบสี่ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติประเมินว่าสมควรยกฐานะ
ขึ้นเป็นศาลชำนัญพิเศษตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือไม่ โดยให้พิจารณาจากปริมาณคดีที่อยู่ในเขตอำนาจ
ความรวดเร็วในการพิจารณาคดี และประสิทธิผลในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นสำคัญ
ในกรณีที่คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติเห็นว่าสมควรยกฐานะขึ้นเป็นศาลชำนัญพิเศษให้ยกฐานะแผนกคดีทุจริต
และประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลยุติธรรมดังกล่าว ขึ้นเป็นศาลชำนัญพิเศษตามรัฐธรรมนูญนี้

(๗) ให้ตรากฎหมายเกี่ยวกับองค์คณะ อำนาจหน้าที่ การฟ้องคดีและวิธีพิจารณาคดี รวมทั้งการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์
ตามามตรา ๒๒๙ วรรคสอง ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๒๗๖ วรรคหนึ่ง (๒)

มาตรา ๒๘๓

  • ในกรณีที่รัฐธรรมนูญนี้บัญญัติให้ดำเนินการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติใด
    เพื่อให้การเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ผู้มีหน้าที่เสนอหรือผู้มีหน้าที่พิจารณากฎหมายดังกล่าวไม่ดำเนินการภายใน
    เวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด หรือภายในเวลาอันสมควรในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเวลาไว้
    ทำให้การปฏิบัติการตามรัฐธรรมนูญนี้ไม่บังเกิดผล ให้ถือว่าคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา
    ผู้มีหน้าที่เสนอหรือผู้มีหน้าที่พิจารณากฎหมายนั้น จงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า
    เป็นเหตุสุดวิสัยหรือเป็นเหตุที่ตนเองมิได้มีส่วนรับผิดชอบด้วย

มาตรา ๒๘๔

  • บรรดากฎหมายใดที่มีบทบัญญัติขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ ให้ผู้รักษาการตามกฎหมายนั้น
    และคณะรัฐมนตรีดำเนินการเพื่อให้มีการตราหรือการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนั้นให้แล้วเสร็จภายใน
    สองปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
  • ในกรณีที่ต้องตรากฎหมายกำหนดรายละเอียดเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนี้ตามที่บัญญัติไว้ใน
    มาตรา ๓๘ วรรคสาม มาตรา ๔๓ วรรคสาม มาตรา ๔๔ (๖) มาตรา ๔๖ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม
    มาตรา ๔๙ วรรคสี่ มาตรา ๕๒ มาตรา ๕๘ วรรคสอง มาตรา ๖๐ วรรคสอง มาตรา ๖๔ วรรคสอง
    มาตรา ๖๕ วรรคหนึ่งและวรรคสาม มาตรา ๖๙ และมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่งและวรรคสี่ ให้ดำเนินการตรากฎหมาย
    ดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และในระหว่างเวลาที่ยังตรากฎหมายดังกล่าว
    ไม่แล้วเสร็จ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๒ วรรคสาม มาใช้บังคับ

มาตรา ๒๘๕

  • บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗
    และที่แก้ไขเพิ่มเติม ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว
    ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้
  • บรรดาประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
    ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าเป็นการประกาศหรือสั่งให้มีผลบังคับ
    ในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้ประกาศหรือคำสั่งตลอดจนกรปฏิบัติตาม
    ประกาศหรือคำสั่งนั้น เป็นประกาศ คำสั่ง หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด
    และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป และการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว
    ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ การตราพระราชบัญญัติตามมาตรานี้ไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติงานของบุคคล
    หรือคณะบุคคลซึ่งได้กระทำไปตามประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว และให้บุคคลหรือคณะบุคคลนั้นได้รับความคุ้มครอง
    ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องในทางใดมิได้