Living in Thailand ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ....  

       
  ส่วนที่ ๒  
  การปฏิรูปด้านต่างๆ  
 
 

มาตรา ๒๖๔

  • ให้มีการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การบริหารราชการแผ่นดิน การบริหารท้องถิ่น
    และการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตามแนวทางดังนี้

(๑) จัดให้มีมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ จัดให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย
และคดี พัฒนากระบวนการยุติธรรมทางเลือกและการระงับข้อพิพาทระหว่างประชาชน ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
ทางอาญาและสำนักงานตำรวจแห่งชาติตลอดจนองค์กรในกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ
รวมทั้งบูรณาการกระบวนการยุติธรรมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

(๒) บริหารราชการแผ่นดินและจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ทบทวนภารกิจและบริการสาธารณะที่หน่วยงานของรัฐจัดทำอยู่ เพื่อขจัดความซ้ำซ้อน รวมทั้งส่งเสริมความเป็นพลเมือง
และการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการบริหารราชการแผ่นดิน

(๓) ให้มีกลไกที่มีเอกภาพและมีประสิทธิภาพเพื่อขับเคลื่อนการกระจายอำนาจ การจัดสรรรายได้
และการปรับบทบาทของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และให้มีกฎหมายและกลไกสำหรับการจัดตั้งองค์กร
บริหารท้องถิ่นรูปแบบที่เหมาะสมกับการพัฒนาพื้นที่ โดยเร็ว

(๔) ให้มีกฎหมายและกลไกส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในสังคม
ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งให้มีการ
ปฏิรูปองค์กรที่มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบให้มีความเป็นอิสระ
และมีกระบวนการในการนำผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีโดยเร็ว

มาตรา ๒๖๕

  • ให้มีการปฏิรูปการศึกษา สาธารณสุข สังคม ศิลปวัฒนธรรม และการคุ้มครองผู้บริโภค ตามแนวทางดังนี้

(๑) จัดให้มีกลไกเพื่อปฏิรูปโครงสร้างการบริหารการศึกษาและระบบการเรียนรู้ทุกระดับ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา
กระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้สถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนมีอิสระและความรับผิดชอบในการจัดการศึกษา
สนับสนุนให้ภาคเอกชน ชุมชน และองค์กรบริหารท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและปฏิรูปการศึกษา
จัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวโดยตรงแก่ผู้ระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาอย่างเพียงพอและเป็นธรรม ส่งเสริมการอาชีวศึกษา
และการวิจัยระดับอุดมศึกษา สร้างธรรมาภิบาลในวงการศึกษา ตลอดจนปรับปรุงกฎหมายที่จำเป็นเพื่อ
ขจัดอุปสรรคต่อการปฏิรูปการศึกษา

(๒) ปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพและการเงินการคลังของกองทุนสุขภาพให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน
ปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ รวมทั้งพัฒนากลไกการกำกับดูแลระบบสุขภาพให้มีคุณภาพ
และการให้บริการสุขภาพที่เป็นธรรม โดยให้มีราคาและค่าบริการที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้รับบริการ

(๓) จัดให้มีกลไกซึ่งทำหน้าที่ศึกษารวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะและกฎหมายต่างๆ
เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปด้านสังคมและชุมชน ระบบสวัสดิการ ระบบการออมเพื่อการดำรงชีพในยามสูงอายุ
ระบบบำนาญและระบบการดูแลอย่างต่อเนื่องให้กับผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการหรือทุพพลภาพ
รวมทั้งให้มีกฎหมายและกลไกสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนหรือธนาคารแรงงาน เพื่อส่งเสริมการออม
และการพัฒนาตนเอง และจัดทำแนวทางในการรวมตัวกันและการเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงานให้สอดคล้องกับ
มาตรฐานระหว่างประเทศ

(๔) สนับสนุนให้มีสมัชชาศิลปวัฒนธรรมระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมทั้งจัดให้มีระบบดูแลทุนทาง
วัฒนธรรมแห่งชาติเพื่อส่งเสริมประชาชนและชุมชนในการสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรม

(๕) ปฏิรูประบบ โครงสร้าง องค์กร และกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมของประชาชน
ในการคุ้มครองผู้บริโภค สร้างความปลอดภัยจากสินค้าและบริการ และการเยียวยาความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ
รวมทั้งจัดให้มีกลไกเพื่อคุ้มครองความมั่นคงด้านอาหาร

มาตรา ๒๖๖

  • ให้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ ตามแนวทางดังนี้

(๑) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะการแข่งขันทางการค้า ระบบรัฐวิสาหกิจ พัฒนาการเกษตร อุตสาหกรรม บริการ ท่องเที่ยว
โครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสร้างสรรค์และนวัตกรรม
ตลอดจนส่งเสริมสังคมผู้ประกอบการการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ในรูปแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษ
และตามแนวชายแดน และการลงทุนของภาคเอกชนไทยในต่างประเทศ

(๒) ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ โดยให้มีกลไกกลางเพื่อกำหนด
และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ จัดสรรงบประมาณเพื่อลดระดับความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
กระจายการถือครองที่ดิน ให้โอกาสที่เท่าเทียมด้านอาชีพ การศึกษา การสาธารณสุข บริการการเงิน
สาธารณูปโภคที่สำคัญ และคุ้มครองเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนสนับสนุนให้ภาคเอกชน
และประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม

(๓) เสริมสร้างวินัยการเงิน การคลัง และการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
โดยให้มีกลไกอิสระในการปฏิรูประบบการคลังและภาษีอากร เพิ่มภาษีให้ครบฐาน
ขยายขอบเขตของการครอบคลุมของระบบภาษีให้กว้างขวาง รวมทั้งจัดให้มีระบบบำนาญแห่งชาติที่มีความยั่งยืน
ยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานและความมั่นคงของระบบการเงินระดับฐานรากและระบบสหกรณ์
ส่งเสริมตลาดทุนให้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้และมีวินัยทางการเงิน

มาตรา ๒๖๗

  • ให้มีการปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการผังเมือง การปฏิรูปด้านพลังงาน
    และการปฏิรูปด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตามแนวทางนี้

(๑) ปฏิรูประบบ โครงสร้าง องค์กร และกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พัฒนาระบบการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับ
ยุทธศาสตร์ ปฏิรูประบบกองทุนด้านสิ่งแวดล้อม ปฏิรูประบบการผังเมือง พัฒนาการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ด้าน
สิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาองค์กรและกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงกลไกและกระบวนการ
บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

(๒) ให้มีการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีธรรมาภิบาลและยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ
คุณภาพสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและสุขภาพของประชาชนและชุมชน รวมทั้งให้ประชาชนได้รับรู้ เข้าถึง
และเข้าใจในข้อมูลด้านพลังงาน มีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายและกระบวนการวางแผนพลังงาน
ติดตามและตรวจสอบการดำเนินนโยบายและแผน และให้มีการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียม
และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

(๓) ให้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนเพื่อการปฏิรูประบบวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
รวมทั้งสร้างกลไกระดับชาติเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว กำหนดมาตรการในการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้
และระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในด้านนี้อย่างเพียงพอ ตลอดจนจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายที่จำเป็นเพื่อ
ขจัดอุปสรรคต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ