Living in Thailand ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ....  

       
  หมวด ๒  
การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมและความปรองดอง
ส่วนที่ ๑
คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาต
 
 

มาตรา ๒๕๙

  • เพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินการปฏิรูปประเทศไทยให้ต่อเนื่องจนบรรลุผล รวมทั้งเพื่อป้องกันและระงับความขัดแย้ง
    ระหว่างคนในชาติและสร้างความปรองดอง ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ
    และสภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง โดยมีองค์ประกอบที่มาและอำนาจหน้าที่ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา ๒๖๐

  • คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่ง
    และกรรมการจำนวนไม่เกินยี่สิบสองคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคลดังต่อไปนี้

(๑) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

(๒) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งจากผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา
ซึ่งเลือกกันเองในแต่ละประเภท ประเภทละหนึ่งคน และ

(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสิบเอ็ดคน ซึ่งแต่งตั้งตามมติรัฐสภา จากผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการ
ปฏิรูปด้านต่างๆ และการสร้างความปรองดอง

ให้กรรมการตามวรรคหนึ่งเลือกผู้ซึ่งมีความเหมาะสมคนหนึ่งให้เป็นประธานยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ

  • คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม หลักเกณฑ์และวิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง
    อำนาจหน้าที่และการอื่นที่จำเป็นของคณะกรรมการตามมาตรานี้ รวมทั้งเงินประจำตำแหน่ง
    และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
    ว่าด้วยยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง
  • ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูป
    และการปรองดอง
  • ในกรณีที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติมีกรรมการไม่ครบองค์ประกอบหรือจำนวน
    ตามวรรคหนึ่ง หากมีกรรมการเหลืออยู่เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดให้คณะกรรมการเท่าที่มีอยู่เป็น
    องค์ประกอบและองค์ประชุมและสามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปได้
  • ให้มีหน่วยธุรการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติและสภาดำเนินการปฏิรูป
    และสร้างความปรองดอง ที่มีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น
    ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง
  • ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองของคณะกรรมการยุทธศาสตร์
    การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติและสภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง เป็นประจำทุกปีโดยคณะกรรมการ
    ประเมินผลแห่งชาติ แล้วแจ้งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ และสภาดำเนินการปฏิรูป
    และสร้างความปรองดองรับทราบ และประกาศผลการประเมินดังกล่าวให้ทราบเป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติ
    ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยยุทธศาสตร์และการปฏิรูปและการปรองดอง

มาตรา ๒๖๑

  • คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ และคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองเพื่อศึกษา
และเสนอแนะเรื่องการปฏิรูปและการเสริมสร้างความปรองดองต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูป
และการปรองดองแห่งชาติ

(๒) ขับเคลื่อนการปฏิรูปโดยการเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปฏิรูป รวมทั้งข้อเสนอในการจัดสรรงบประมาณ
ที่จำเป็นต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ
และสร้างความเป็นธรรมในด้านต่างๆ

(๓) นำข้อเสนอการปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)
พุทธศักราช ๒๕๕๗ รวมทั้งแผนงานและยุทธศาสตร์การปฏิรูปของทุกภาคส่วน มาบูรณาการเพื่อให้สามารถ
พัฒนาประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมทั้งปรับแผน
และขั้นตอนดังกล่าวได้ตามที่เห็นว่าเหมาะสม

(๔) ดำเนินการที่จำเป็นเพื่อสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ระหว่างคู่ขัดแย้งและสร้างความปรองดอง
ในหมู่ประชาชนตามหลักความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
ยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง

(๕) ดำเนินการหรือสั่งให้มีการดำเนินการที่จำเป็นเพื่อป้องกันและระงับความขัดแย้งหรือความรุนแรง
และระงับหรือยังยั้งการกระทำที่มีผลเป็นการขัดขวางการปฏิรูปหรือการสร้างความปรองดอง
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง

(๖) ตรวจสอบและไต่สวนการไม่ปฏิบัติตามแผนหรือขั้นตอนที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูป
และการปรองดองแห่งชาติกำหนดตาม (๒) (๓) (๔) หรือ (๕)

(๗) เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจาณราวินิจฉัยกรณีตาม (๖) หรือกรณีอื่น
ตามมาตรา ๒๒๒ หรือมาตรา ๒๕๗ วรรคสาม
(๘) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการปฏิรูปและการปรองดอง

(๙) เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของประชาชนเพื่อความเป็นพลเมืองที่ดี

(๑๐) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปฏิรูปที่สอดคล้อง
และเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

(๑๑) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติ

  • เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ
    มีอำนาจกำหนดยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง อำนวยการ และดำเนินการให้เกิดสภาวะที่เอื้อ
    ต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์และปรองดอง และเพื่อการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐดำเนินการให้
    เป็นตามยุทธศาสตร์นั้น รวมทั้งมีอำนาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแนวทางและมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อ
    ประโยชน์ในการขจัดความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง ทั้งนี้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูป
    และการปรองดองแห่งชาติย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน
  • เมื่อคณะรัฐมนตรีได้รับข้อเสนอตามวรรคหนึ่ง หรือแนวทางและมาตรการตามวรรคสอง ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา
    ดำเนินการตามข้อเสนอหรือแนวทางและมาตรการดังกล่าว รวมทั้งให้การสนับสนุนงบประมาณ ในกรณีที่
    คณะรัฐมนตรีไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอหรือแนวทางและมาตรการใดได้ให้ชี้แจงเหตุผลให้รัฐสภา
    และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ทราบ ในการนี้ หากคณะกรรมการยุทธศาสตร์
    การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติทบทวนข้อเสนอ แนวทาง หรือมาตรการดังกล่าว และมีมติยืนยันด้วยเสียง
    ไม่น้อยกว่าสามในสี่ ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้เป็นไปตามมติดังกล่าว

มาตรา ๒๖๒

  • ให้มีสภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง ประกอบด้วยบุคคลตามมาตรา ๒๖๐ และมาตรา ๒๖๑ (๑)
    เพื่อดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
    ว่าด้วยยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง
  • ให้สภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดองประเมินผลการปฏิรูปและสร้างความปรองดองในแต่ละปี
    และจัดทำแผนปฏิรูปและสร้างความปรองดองในปีถัดไป รวมทั้งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูป
    และสร้างความปรองดอง ซึ่งต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภาต่อไป และอำนาจหน้าที่อื่นตามพระราชบัญญัติ
    ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง
  • ให้ประธานกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติเป็นผู้เรียกประชุมและเป็นประธานการประชุมสภา
    ดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง

มาตรา ๒๖๓

  • ในการดำเนินการตามมาตรา ๒๖๑ หากเห็นว่ากรณีใดจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติขึ้นใช้บังคับ
    ให้สภาดำเนินปฏิรูปและสร้างความปรองดองจัดทำร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับกรณีนั้นเสนอคณะกรรมการ
    ยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติเพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ในการนี้
    คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติจะแก้ไขเพิ่มเติมหรือส่งให้สภาดำเนินการ
    ปฏิรูปและสร้างความปรองดองแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนใดก่อนก็ได้
  • ให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
    โดยต้องประกอบด้วยสมาชิกสภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดองและผู้แทนคณะกรรมการยุทธศาสตร์
    การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติรวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด
    และในกรณีที่เป็นการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการร่มกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
    คณะกรรมาธิการร่วมกันนั้นจะต้องประกอบด้วยสมาชิกสภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง
    และผู้แทนคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติรวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม
    ของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดด้วย
  • ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอตามวรรคหนึ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน จะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมี
    คำรับรองของนายกรัญมนตรี ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีต้องพิจารณาให้คำรับรองภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่าง
    ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่แจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่านายกรัฐมนตรีให้คำรับรอง