Living in Thailand ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ....  

       
  ตอนที่ ๓  
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาต
 
 

มาตรา ๒๕๓

  • คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกอบด้วยกรรมการจำนวนเก้าคนซึ่ง
    พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
    มีคุณวุฒิ ทักษะ หรือความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ด้านรัฐศาสตร์ ด้านการเงินการบัญชี ด้านเศรษฐศาสตร์
    ด้านการบริหารงานภาครัฐ ด้านการบริหารงานภาคเอกชน หรือมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการป้องกันปราบปราม
    การทุจริต มีวาระการดำรงตำแหน่งเก้าปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
  • ให้นำหลักเกณฑ์และกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้ มาใช้บังคับกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
    และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ด้วย โดยอนุโลม ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติ
    ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

(๑) การแต่งตั้งตามมาตรา ๒๔๔ วรรคสองและวรรคสาม

(๒) หน่วยธุรการตามมาตรา ๒๔๔ วรรคสี่

(๓) คณะกรรมการสรรหารวมทั้งวิธีการสรรหาตามมาตรา ๒๔๕ วรรคสองและวรรคสาม มาตรา ๒๔๖ (๑)(๒)
(๓)(๔)(๕) และ (๖) และ วรรคสาม และมาตรา ๒๔๗ โดยให้ประธานศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งเลือก
โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หนึ่งคน ร่วมเป็นกรรมการสรรหาด้วย

(๔) การอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา ๒๔๘ วรรคสอง

(๕) การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งแทนตามมาตรา ๒๔๙ แต่ให้ผู้ได้รับการสรรหานั้นดำรงตำแหน่งตามวาระในวรรคหนึ่ง

(๖) การประเมินผลการปฏิบัติงานตามมาตรา ๒๕๐ วรรคห้า

  • คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
    รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน
    และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ การยื่นเรื่องให้วุฒิสภามีมติให้กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
    พ้นจากตำแหน่ง การดำเนินคดีอาญากับกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในศาลฎีกาแผนกคดีอาญา
    ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตลอดจนการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ
    ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยอย่างน้อยต้องมีข้อห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรตาม
    รัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมาแล้ว เข้ารับการสรรหา
  • ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
    ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

มาตรา ๒๕๔

  • คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเกี่ยวกับการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง
เสนอต่อรัฐสภาหรือวุฒิสภาตามมาตรา ๒๓๘ และมาตรา ๒๔๐

(๒) ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง
ทางการเมืองส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา ๒๔๑

(๓) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่
ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษา ตุลาการ ข้าราชการอัยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่ง
หัวหน้าหน่วยงานของรัฐหรือเทียบเท่า ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อ
ตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม รวมทั้งไต่สวนและวินิจฉัยว่าผู้ใดเป็นตัวการ
ผู้ใช้ และผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน
และปราบปรามการทุจริต

(๔) ตรวจสอบความถูกต้อง ความมีอยู่จริง และความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่ง
ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ตลอดจนไต่สวนและวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวร่ำรวยผิดปกติ

(๕) ฟ้องคดีต่อศาลปกครองในคดีที่เกี่ยวกับวินัยการคลังและงบประมาณตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยการคลังและการงบประมาณภาครัฐ หรือคดีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

(๖) รายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่พร้อมข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร
และวุฒิสภา ทุกปี และเผยแพร่รายงานดังกล่าวให้ทราบเป็นการทั่วไปด้วย

(๗) ดำเนินการอื่นตามที่รัฐธรรมนูญนี้และตามที่กฎหมายบัญญัติ