Living in Thailand ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ....  

       
  ส่วนที่ ๔  
การดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตาแหน่งทางการเมือง
 
 

มาตรา ๒๔๑

  • ในกรณีที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น
    ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา
    หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญา
    ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอำนาจพิจารณาพิพากษา
  • บทบัญญัติวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับกรณีที่บุคคลดังกล่าวหรือบุคคลอื่นเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน
    รวมทั้งผู้ให้ ผู้ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือปรโยชน์อื่นใดแก่บุคคลตามวรรคหนึ่ง เพื่อจูงใจให้กระทำการ
    ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ด้วย

มาตรา ๒๔๒

  • ในกรณีที่มีการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา ร่ำรวยผิดปกติ
    กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่
    หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไม่รับดำเนินการไต่สวน
    ดำเนินการดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร หรือดำเนินการไต่สวนแล้วเห็นว่าไม่มีมูลความผิดตามข้อกล่าวหา
    สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวน
    สมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือผู้เสียหายจากการกระทำดังกล่าว อาจยื่นคำร้องต่อประธานศาลฎีกา
    เพื่อขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระจำนวนไม่เกินสามคนจากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมือง
    และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ไต่สวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของบุคลดังกล่าว
  • ในกรณีที่ผู้ไต่สวนอิสระดำเนินการแล้วเห็นว่าเรื่องที่ไต่สวนนั้นมีมูล ให้ส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยัง
    ประธานรัฐสภาเพื่อดำเนินการตามมาตรา ๒๔๐ และยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป
  • คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และการแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ รวมทั้งการยื่นคำร้อง การดำเนินการไต่สวน
    การยื่นฟ้องคดีต่อศาล และการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบกับรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณา
    คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง


มาตรา ๒๔๓

  • ในการพิจารณาคดี ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยึดสำนวนของคณะกรรมการ
    ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือของผู้ไต่สวนอิสระ แล้วแต่กรณี เป็นหลักในการพิจารณา
    และอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร