Living in Thailand ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ....  

       
  ส่วนที่ ๒  
  ศาลรัฐธรรมนูญ  
 
 

มาตรา ๒๑๕

  • ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนเก้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของ
    วุฒิสภาจากบุคคลดังต่อไปนี้

(๑) ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาและได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวนสองคน

(๒) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจำนวนสองคน

(๓) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ จำนวนสามคน โดยต้องเป็นผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน อย่างน้อยหนึ่งคน

(๔) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารภาครัฐ จำนวนสองคน

  • หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาตามซึ่งบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
    ศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ
  • ให้ผู้ได้รับเลือกตามวรรคหนึ่ง ประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญแล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ
  • ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

มาตรา ๒๑๖

  • ให้มีคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๕ (๓) และ (๔) คณะหนึ่ง
    ประกอบด้วยกรรมการประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้

(๑) ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด

(๒) ประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

(๓) ประธานองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคน

(๔) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเลือกจากคณบดีคณะนิติศาสตร์หนึ่งคน
และจากคณบดีคณะรัฐศาสตร์หนึ่งคน

  • หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบ
    รัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ
  • กรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง จะเข้ารับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มิได้
    และให้กรรมการดังกล่าวประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการสรรหา

มาตรา ๒๑๗

  • ให้คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการสรรหาผู้ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาล
    รัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๕ (๓) และ (๔) ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุให้ต้องมีการสรรหาบุคคล
    ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว และให้เสนอรายชื่อ ผู้ได้รับเลือกนั้นพร้อมความยินยอมของผู้นั้นต่อประธานวุฒิสภา
    มติในการคัดเลือกดังกล่าวต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการ
    ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
  • ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินการให้ได้มาซึ่งกรรมการสรรหาในตำแหน่งใดหรือกรรมการสรรหาในตำแหน่งใดไม่สามารถ
    ปฏิบัติหน้าที่ได้ ถ้ากรรมการที่เหลืออยู่นั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ให้คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
    ประกอบด้วยกรรมการที่เหลืออยู่
  • ในกรณีที่ไม่อาจสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ภายในเวลาที่กำหนด
    ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา
    จำนวนสี่คน และให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดแต่งตั้งตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจำนวนสามคน
    เป็นกรรมการสรรหาเพื่อดำเนินการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทน
  • ให้ประธานวุฒิสภาเรียกประชุมเพื่อมีมติให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการคัดเลือกตามวรรคหนึ่งภายในสามสิบวันนับแต่
    วันที่ได้รับรายชื่อ การลงมติให้ใช้วิธีลงคะแนนลับ ในกรณีที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบให้ประธานวุฒิสภานำความขึ้น
    กราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป ในกรณีที่วุฒิสภาไม่เห็นชอบในชื่อใด ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
    ให้ส่งชื่อนั้นกลับไปยังคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หากคณะกรรมการสรรหาตุลาการรัฐธรรมนูญ
    ไม่เห็นด้วยกับวุฒิสภาและมีมติยืนยันตามมติเดิมด้วยคะแนนเอกฉันท์ ให้ส่งชื่อนั้นให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูล
    เพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป แต่ถ้ามติที่ยืนยันตามมติเดิมไม่เป็นเอกฉันท์ให้เริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ ซึ่งต้องดำเนินการ
    ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุให้ต้องดำเนินการดังกล่าว

มาตรา ๒๑๘

  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่งเก้าปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
    และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
  • ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญมาครบสามปีแล้ว พ้นจากตำแหน่งประธาน
    ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไป แล้วให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเลือกตุลาการ
    ศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญแทน
  • ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับกับกรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญแสดงเจตนาขอพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ประธาน
    ศาลรัฐธรรมนูญโดยมิได้ลาออกจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วย
  • ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
    จนกว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับการแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
  • ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมตามกฎหมาย

มาตรา ๒๑๙

  • คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ การกระทำอันเป็นการต้องห้ามในระหว่างที่
    ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และการอื่นที่จำเป็นให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ
    ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญโดยอย่างน้อยต้องมีข้อกำหนด
    ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มาแล้ว เข้ารับการสรรหา
    และการพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์

มาตรา ๒๒๐

  • ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วย
    เหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๖ และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
    ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย
    ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
  • ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่งไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย
    ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้

มาตรา ๒๒๑

  • บุคคลซึ่งละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่า
    บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ
    และวิธิพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ
  • ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการใช้สิทธิตามมาตรานี้ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย
    ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้

มาตรา ๒๒๒

  • ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี
    หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร
    ประธานวุฒิสภา ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หรือองค์กรนั้น
    เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

มาตรา ๒๒๓

  • องค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและในการทำคำวินิจฉัยต้องประกอบด้วย
    ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าห้าคน
  • คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีบัญญัติเป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้
    โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนจะต้องทำความเห็นในการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีในส่วนของตน
    พร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ
  • วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และการทำคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ
    ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ
  • คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐทุกองค์กร
    และให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว ทั้งนี้
    คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและความเห็นในการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคน ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา