Living in Thailand ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ....  

       
ภาค ๓
หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อานำจรัฐ
หมวด ๑
ศาลและกระบวนการยุติธรรม
  ส่วนที่ ๑  
  บททั่วไป  
 
 

มาตรา ๒๐๕

  • หลักนิติธรรมอันเป็นรากฐานของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย อย่างน้อยมีหลักการพื้นฐานสำคัญ ดังต่อไปนี้

(๑) ความสูงสุดของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเหนืออำเภอใจของบุคคล และการเคารพรัฐธรรมนูญ และทั้งโดยรัฐและประชาชน

(๒) การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค

(๓) การแบ่งเเยกการใช้อำนาจ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
และการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม

(๔) นิติกระบวนอันเป็นธรรม ซึ่งอย่างน้อยต้องไม่บังคับใช้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายย้อนหลังเป็นโทษทางอาญาแก่บุคคล
ให้บุคคลมีสิทธิในการปกป้องตนเองเมื่อสิทธิหรือเสรีภาพถูกกระทบ ไม่บังคับให้บุคคลต้องให้ถ้อยคำซึ่งทำให้ต้องรับผิด ทางอาญา ไม่ทำให้บุคคลต้องถูกดำเนินคดีอาญาในการกระทำความผิดเดียวกันมากกว่าหนึ่งครั้ง และมีข้อกำหนดให้ สันนิษฐานว่าบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาว่ากระทำผิด

(๕) ความเป็นอิสระของศาล และความสุจริตเที่ยงธรรมของกระบวนการยุติธรรม

มาตรา ๒๐๖

  • กระบวนการยุติธรรมต้องเป็นไปโดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย มีความเป็นธรรม มีมาตรฐานที่ชัดเจน
    โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีขั้นตอนการดำเนินกระบวนการพิจารณาที่เหมาะสมกับประเภทคดี มีประสิทธิภาพ
    ไม่ล่าช้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร และให้ประชาชนเสียค่าใช้จ่ายน้อย
  • การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลและองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ต้องมีการกำหนดระยะเวลาการดำเนินการใน
    ขั้นตอนต่างๆ ทั้งของคู่ความ ของศาล และขององค์กรดังกล่าว ไว้อย่างชัดเจน เพื่อเป็นหลักประกันในการดำเนินการใน
    กระบวนการยุติธรรมและการพิจารณาพิพากษาคดี และต้องเปิดเผยให้ทราบเป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม คู่ความ คู่กรณี และทนายความ มีหน้าที่ร่วมมือกับศาลเพื่อให้การพิจารณา
    พิพากษาคดีเป็นไปโดยไม่ล่าช้าโดยไม่มีเหตุอันควร ถ้ามีการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตย่อมต้องรับผิดตามกฎหมายบัญญัติ
  • คำพิพากษา คำวินิจฉัย และคำสั่ง ต้องแสดงเหตุผลประกอบการวินิจฉัยหรือการมีคำสั่ง ต้องอ่านโดยเปิดเผย
    รวมทั้งต้องให้ผู้มีส่วนร่วมได้เสียสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย และถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะต้องให้ประชาชน
    ทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๒๐๗

  • การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามหลักนิติธรรม
    ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และในปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
  • ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยปราศจากอคติทั้งปวง และต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ
    และประสบการณ์ที่เหมาะสมกับประเภทคดีที่ต้องการพิจารณาพิพากษา
  • ผู้พิพากษาและตุลาการจะเป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มิได้
  • เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้พิพากษาและตุลาการ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
    ทั้งนี้ จะนำระบบบัญชีเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับมิได้ และเมื่อมีการเพิ่มเงินเดือน
    หรือเงินประจำตำแหน่งข้าราชดารพลเรือนเป็นสัดส่วนใด ให้ปรับเพิ่มเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของผู้พิพากษา
    หรือตุลาการขึ้นอย่างน้อยให้เป็นไปตามสัดส่วนนั้น
  • ให้มีคณะกรรมการซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาศาลยุติธรรมหรือของตุลาการศาลปกครอง เพื่อเป็นหลักประกันความอิสระของผู้พิพากษาหรือตุลาการ โดยมีองค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ และวิธีดำเนินการ ตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในองค์กรการบริหารงานบุคคลดังกล่าว ให้ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินสองวาระ
    และบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรบริหารงานบุคคลของศาลหนึ่ง จะไปดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรบริหาร
    งานบุคคลของศาลอื่นหรือกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารของศาลใด ในเวลาเดียวกันมิได้
  • การแต่งตั้ง การโยกย้าย การเลื่อนเงินเดือน และการเลื่อนตำแหน่ง วินัยและการลงโทษทางวินัย การทบทวนการลงโทษทางวินัย
    การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ ของผู้พิพากษาและตุลาการ ต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๒๐๘

  • การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ต้องเป็นไปโดยเที่ยงธรรมปราศจากการขัดกัน
    แห่งผลประโยชน์และปราศจากอคติทั้งปวง และต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมาย
  • ในกรณีที่ศาลหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเห็นว่ากฎหมายหรือกฎใดก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อ
    ประชาชนหรือไม่เป็นไปตามมาตรา ๘๖ ให้ศาลหรือหน่วยงานของรัฐดังกล่าวส่งความเห็นเช่นนั้นไปยังคณะรัฐมนตรี
    และรัฐสภาเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป

มาตรา ๒๐๙

  • บรรดาศาลทั้งหลายจะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ โดยให้จัดตั้งศาลอย่างทั่วถึงเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึง
    ได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และเสียค่าใช้จ่ายน้อย
  • การตั้งศาลขึ้นมาใหม่เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งหรือคดีที่มีข้อหาฐานใดฐานหนึ่งโดยเฉพาะแทนศาลที่มีอยู่
    ตามกฎหมายสำหรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้นจะกระทำมิได้
  • การบัญญัติกฎหมายให้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยรัฐธรรมนูญศาลหรือวิธีพิจารณาเพื่อใช้แก่
    คดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะจะกระทำมิได้

มาตรา ๒๑๐

  • ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหารหรือศาลอื่น
    ให้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดโดยคณะกรรมการคณะหนึ่งซึ่งประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธาน
    ประธานศาลปกครองสูงสุด หรือประธานศาลอื่น และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นทางนิติศาสตร์ไม่เกินสี่คน เป็นกรรมการ
    โดยให้เลขานุการศาลฎีกาเป็นเลขานุการ และให้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองและหัวหน้าหน่วยธุรการของศาลอื่น
    เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • ให้คณะกรรมการวรรคหนึ่งแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิทางนิติศาสตร์ตามวรรคหนึ่งจำนวนสามคนเป็นคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณา
    เสนอความเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยเป็นรายคดี
  • หลักเกณฑ์เสนอปัญหาและการวินิจฉัยปัญหาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๒๑๑

  • พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้พิพากษาและตุลาการ และทรงให้พ้นจากตำแหน่งหนึ่งเพื่อไปดำรงตำแหน่งอื่น
    แต่ในกรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นตามกฎหมายหรือเพราะความตาย ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ
    ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้พิพากษาและตุลาการต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
  • “ข้าพระพุทธเจ้า(ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์
    และจะปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โดยปราศจากอคติทั้งปวงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่
    ประชาชน และความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย
    อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายทุกประการ”

มาตรา ๒๑๒

  • ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดมีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
    และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ในกรณีที่ผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวยังไม่พ้นจากราชการเพราะเหตุที่
    เกษียณราชการ ให้แต่งตั้งผู้นั้นดำรงตำแหน่งอื่นตามที่องค์กรบริหารงานบุคคลของศาลนั้นกำหนด

มาตรา ๒๑๓

  • ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม และศาลปกครอง มีหน่วยธุรการของศาลที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล
    การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลเป็นผู้บังคับบัญชา
    ขึ้นตรงต่อประธานศาลนั้น
  • การแต่งตั้ง การพ้นจากตำแหน่ง การประเมินประสิทธิภาพ และการดำเนินการทางวินัย เลขาธิการสำนักงานศาล
    ต้องได้รับความเห็นชอบจากองค์กรบริหารงานบุคคลของศาลนั้นตามที่กฎหมายบัญญัติ ให้มีหน่วยงานบังคับคดีที่มี
    ประสิทธิภาพอยู่ในสังกัดของศาล เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัย คำพิพากษา และคำสั่งของศาล
    ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๒๑๔

  • องค์กรอัยการมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
    โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์
  • พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ตามบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรอัยการ และพนักงานอัยการ
    และกฎหมายอื่น
  • ในการสอบสวนคดีอาญาที่สำคัญ ให้พนักงานอัยการมีอำนาจสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • คำสั่งชี้ขาดเกี่ยวกับคำสั่งฟ้อง ไม่ฟ้อง ถอนฟ้อง อุทธรณ์ฎีกา ไม่อุทธรณ์ฎีกา หรือถอนอุทธรณ์ฎีกาของอัยการสูงสุด
    ตามกฎหมาย ต้องแสดงเหตุผลประกอบการมีคำสั่ง รวมทั้งต้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย
    และถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะต้องให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • การแต่งตั้ง การโยกย้าย การเลื่อนเงินเดือน และการเลื่อนตำแหน่ง วินัยและการลงโทษทางวินัย การอุทธรณ์และการร้องทุกข์
    ของข้าราชการอัยการ ต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญัติ และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๐๗ วรรคสี่
    มาใช้บังคับกับข้าราชการอัยการด้วยโดยอนุโลม
  • ให้มีคณะกรรมการซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลของข้าราชการอัยการเพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระ โดยมีองค์ประกอบ
    อำนาจหน้าที่ และวิธีดำเนินการ ตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยประธานกรรมการต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกตั้งจาก
    ข้าราชการอัยการ ต้องไม่เป็นข้าราชการอัยการและไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • ประธานกรรมการและกรรมการอื่นซึ่งมิใช่กรรมการโดยตำแหน่งให้ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินสองวาระ
  • ข้าราชการอัยการต้องไม่เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐในทำนองเดียวกัน หรือในห้างหุ้นส่วนบริษัท
    ไม่เป็นที่ปรึกษาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใดในลักษณะเดียวกัน ทั้งต้องไม่ประกอบอาชีพ
    หรือวิชาชีพหรือการกระทำกิจการใดอันเป็นการกระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติหน้าที่หรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งตำแหน่ง
    หน้าที่ของข้าราชการอัยการ
  • สำนักงานอัยการสูงสุดมีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น ทั้งนี้ ตามที่กกหมายบัญญัติ