Living in Thailand ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. .... August 30, 2015

       
  หมวด ๗  
การกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น
 
 

มาตรา ๑๙๙

  • หน้าที่แภายใต้บังคับมาตรา ๑ รัฐต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรบริหารท้องถิ่นตามหลักเเห่งการปกครองตนเอง
    ตามเจตนารมย์ของประชาชนในท้องถิ่นโดยให้มีรูปเเบบองค์กรบริหารท้องถิ่นที่หลากหลาย เหมาะสมกับการบริหารจัดการ ตามภูมิสังคมแต่ละพื้นที่ รวมทั้งต้องกระจายอำนาจละความรับผิดชอบและต้องส่งเสริมให้องค์กรบริหารท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลัก ในการจัดทำบริการสาธารณะตลอดจนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเเก้ไขปัญหาและพัฒนาในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
    การจัดทำบริการสาธารณะใดที่ชุมชนหรือบุคคลสามารถดำเนินการได้โดยมีมาตรฐาน คุณภาพ และประสิทธิภาพ
    ไม่น้อยกว่าองค์กรบริหารท้องถิ่น รัฐหรือองค์กรบริหารท้องถิ่นต้องกระจายอำนาจภารกิจดังกล่าวให้ชุมชน
    หรือบุคคลดังกล่าวดำเนินการภายใต้การกำกับดูเเลที่เหมาะสม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๒๐๐

  • องค์กรบริหารท้องถิ่นต้องมีผู้บริหารท้องถิ่นหรือสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ในกรณีที่เป็นองค์กรบริหารท้องถิ่น
    รูปเเบบพิเศษจะมาจากความเห็นชอบของประชาชนโดยวิธีอื่นก็ได้ และผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น
    ต้องไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • องค์กรบริหารท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะและสร้างความมั่นคงและเข้มเเข็งทางเศรษฐกิจ
    และสังคมเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น ย่อมมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ โดยอย่างน้อยต้องมี
    อำนาจหน้าที่ในด้านการพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ
    การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งเเวดล้อม การพัฒนาเศรษฐกิจพื้นฐาน การกีฬา
    การศึกษาอบรม การส่งเสริมศาสนา และการจัดการศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณีท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • องค์กรบริหารท้องถิ่นต้องบริหารงานให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหาร
    การจัดทำบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล และการคลัง โดยต้องคำนึงถึงดุลยภาพระหว่างความเป็นอิสระและ
    ความมีมาตรฐาน รวมทั้งสอดคล้องกับการพัฒนาของจังหวัด และประเทศโดยรวม
  • องค์กรบริหารท้องถิ่นต้องมีขนาดเเละศักยภาพที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน
    ในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยสามารถจัดทำบริการสาธารณะได้ในหลายรูปเเบบ
    สามารถสร้างความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ องค์การภาคเอกชน และองค์การภาคประชาสังคมได้ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า
    เป็นประโยชน์ และให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ รัฐ ราชการส่วนภูมิภาค และองค์กรบริหารท้องถิ่น
    ต้องร่วมมือกันดำเนินการตามงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรให้พัฒนาพื้นที่ร่วมกันและในภารกิจอื่นที่ได้รับมอบหมาย
    เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๒๐๑

  • เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไปตามหมวดนี้ ให้มีประมวลกฎหมายจัดตั้งองค์กรบริหารท้องถิ่น
    และกฎหมายส่งเสริมการกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น โดยต้องให้มีการกระจายอำนาจที่เพิ่มขึ้น
    มีคณะกรรมการส่งเสริมการบริหารท้องถิ่นเเห่งชาติ มีหน่วยงานรับผิดชอบการกระจายอำนาจที่เป็นเอกภาพ
    และสามารถดำเนินการให้การกระจายอำนาจเป็นผลสำเร็จ และมีการประเมินผลการกระจายอำนาจด้วย
  • ให้กระจายอำนาจในการจัดเก็บภาษีให้กับองค์กรบริหารท้องถิ่นให้มีอิสระในการจัดหารายได้และใช้จ่ายในการดำเนินงาน
  • การกระจายอำนาจในการจัดเก็บภาษีให้กับองค์กรบริหารท้องถิ่น ให้คำนึงถึงการให้ท้องถิ่นโดยรวมมีรายได้จากภาษีท้องถิ่น
    ที่เพียงพอสำหรับความจำเป็นในการใช้จ่ายของท้องถิ่น องค์กรบริหารท้องถิ่นใดที่ความสามารถในการจัดเก็บภาษีของ
    ท้องถิ่นไม่เพียงพอในการใช้จ่าย ให้รัฐจัดสรรเงินรายได้ในรูปเเบบของการจัดสรรเงินภาษีและเงินอุดหนุนให้องค์กร
    บริหารท้องถิ่นนั้น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • ให้มีการกำกับดูเเลใช้จ่ายงบประมาณ การรายงานการเงิน การคลัง และการตรวจสอบ เพื่อให้การบริหารการเงินการคลังของ
    องค์กรบริหารท้องถิ่นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด
    รวมทั้งรักษาวินัยและความยั่งยืนทางการคลังโดยรวมของท้องถิ่นและของประเทศ

มาตรา ๒๐๒

  • การกำกับดูแลองค์กรบริหารท้องถิ่นต้องกระทำตามกฎหมาย เท่าที่จำเป็น และต้องเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์
    ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม และเป็นหลักประกันให้แก่ประชาชนจากการใช้อำนาจ
    ขององค์กรบริหารท้องถิ่น เหมาะสมกับรูปแบบขององค์กรบริหารท้องถิ่น และจะกระทบกับหลักความเป็นอิสระ
    ขององค์กรบริหารท้องถิ่นมิได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • ในการกำกับดูแลตามวรรคหนึ่ง รัฐอาจดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดมาตรฐานกลางให้องค์กรบริหารท้องถิ่นปฏิบัติและติดตามตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานนั้น

(๒) ทำสัญญาแผนระหว่างรัฐ ราชการส่วนภูมิภาค และองค์กรบริหารท้องถิ่น ในกรณีที่มีการพัฒนาพื้นที่หรือโครงการร่วมกัน

(๓) ส่งเรื่องให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยว่ากฎ คำสั่ง มติ หรือการกระทำใด ของผู้บริหารท้องถิ่น สภาท้องถิ่น
หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการตัดอำนาจผู้กำกับดูแลที่จะยับยั้งกฎ
คำสั่ง หรือมติ หรือการกระทำดังกล่าว ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายจัดตั้งองค์กรบริหารท้องถิ่น

(๔) การอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๒๐๓

  • ประชาชนหรือชุมชนย่อมมีสิทธิมีส่วนร่วมในการบริหารงานขององค์กรบริหารท้องถิ่นในการกำหนดรูปแบบของ
    องค์กรบริหารท้องถิ่น การบริหารงานท้องถิ่น การออกเสียงประชามติระดับท้องถิ่น การตรวจสอบการดำเนินงาน
    การถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือการเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • องค์กรบริหารท้องถิ่นมีหน้าที่ต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยอย่างน้อยต้องเบิดเผยข้อมูลข่าวสาร
    รายงานผลการดำเนินงาน และรายงานงบการเงินและสถานะทางการคลังท้องถิ่นให้ประชาชนทราบ ส่งเสริมสมัชชาพลเมือง
    รวมทั้งต้องจัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจในการดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อประชาชน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๒๐๔

  • การบริหารงานบุคคลขององค์กรบริหารท้องถิ่นต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมและความเหมาะสมขององค์กร
    บริหารท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ โดยต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) ให้บุคลากรขององค์กรบริหารท้องถิ่นมีสถานะเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นหรือลูกจ้างส่วนท้องถิ่น
และสามารถย้ายหรือสับเปลี่ยนสังกัดระหว่างหน่วยงานท้องถิ่นและองค์กรบริหารท้องถิ่นรูปแบบต่างกันได้

(๒) ให้มีองค์กรกลางบริหารงานบุคคลขององค์กรบริหารท้องถิ่นทุกรูปแบบ ในระดับชาติและระดับจังหวัด
ร่วมกันเป็นองค์กรเดียว โดยมีองค์ประกอบสี่ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนผู้บริหารท้องถิ่น
ผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ มีจำนวนเท่ากัน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

(๓) ให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมในการบริหารท้องถิ่นและคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่น
ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

  • องค์กรบริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอาจมีองค์กรกลางบริหารงานบุคคล (๒) และคณะกรรมการตาม (๓)
    เป็นการเฉพาะได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ