Living in Thailand ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ....  

       
  หมวด ๔ คณะรัฐมนตร  
 
 

มาตรา ๑๖๔

  • พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี
    มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน
  • ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
  • นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปีมิได้

มาตรา ๑๖๕

  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
    มีสิทธิเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
    ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรต้องมีมติให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกตามมาตรา ๑๓๒
    มติดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
    แต่ในกรณีที่บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อมิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวน
    สมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร การลงมติในกรณีเช่นว่านี้ให้กระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย
  • ในกรณีที่พ้นกำหนดสามสิบวันตามวรรคหนึ่งแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบให้ได้รับแต่งตั้งเป็น
    นายกรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามวรรคหนึ่งใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ครบกำหนด
    สามสิบวันดังกล่าว ในกรณีนี้ หากปรากฏว่ายังไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบให้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
    ตามวรรคหนึ่ง ให้สภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นอันสิ้นอายุ และให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้ง
    ทั่วไปโดยไม่ต้องตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๑๑๔ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งภายใน
    สี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรนั้นสิ้นอายุ และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

มาตรา ๑๖๖

  • รัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์

(๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

(๔) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐๘ (๑) (๒) (๓) (๔) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๒) (๑๓) (๑๔) หรือ(๑๕)

(๕) ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสามปีก่อนได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐมนตรี
เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

(๖) ไม่เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินสองปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี

  • นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องแสดงสำเนาแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ย้อนหลังเป็นเวลาสามปีต่อคณะกรรมการ
    ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี
  • นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในขณะเดียวกันมิได้
    แต่ในกรณีที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีให้พ้นจากตำแหน่ง
    สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง

มาตรา ๑๖๗

  • ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

"ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์
และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในจริยธรรม เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน
ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"

มาตรา ๑๖๘

  • คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและต้องชี้แจงต่อรัฐสภาให้ชัดเจนว่า
    จะดำเนินการในเรื่องใด ในระยะเวลาเท่าใด เพื่อบริการราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
    โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่
  • ก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อ
    ประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีที่เข้ารับหน้าที่จะดำเนินการไปพลางก่อนเพียงเท่าที่จำเป็นก็ได้

มาตรา ๑๖๙

  • นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา
    และย่อมมีสิทธิแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมสภา และให้นำเอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๕
    มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๗๐

  • ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย
    และนโยบายที่ได้แถลงไว้ ตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่รัฐสภา
    ให้ความเห็นชอบแล้ว และต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน
    รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี้

มาตรา ๑๗๑

  • ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของ
    สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปราย
    ทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้

มาตรา ๑๗๒

  • นายกรัฐมนตรีอาจเสนอขอความไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินจากสภาผู้แทนราษฎรได้
    เมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรได้รับเรื่องแล้ว ให้จัดให้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาลงมติภายใน
    เจ็ดวันนับแต่วันที่นายกรัฐมนตรียื่นเรื่องดังกล่าว แต่นายกรัฐมนตรีจะเสนอขอความไว้วางใจตามมาตรานี้
    เมื่อมีการเข้าชื่อกันเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไว้วางใจนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๖๐ แล้วมิได้
  • ในกรณีที่มติไว้วางใจมีคะแนนน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
    นายกรัฐมนตรีจะกราบบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์ทรงยุบสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๑๕ ก็ได้ี

มาตรา ๑๗๓

  • รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๗๕

(๒) สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ

(๓) คณะรัฐมนตรีลาออก

  • ในกรณีที่ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๗๕(๑) (๒) (๓) (๔) (๖) (๘)
    หรือ (๙)ให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๖๕ โดยอนุโลม

มาตรา ๑๗๔

  • คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่
    จะเข้ารับหน้าที่ แต่ถ้าเป็นกรณีที่รัฐมนตรีซึ่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปนั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง
    ตามมาตรา ๑๗๕ จนมีรัฐมนตรีเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๖๔
    รัฐมนตรีที่เหลืออยู่นั้นจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรานี้มิได้ แต่ให้ปลัดกระทรวง
    ของแต่ละกระทรวงรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้น และให้ปลัดกระทรวงทุกกระทรวงที่รักษาการ
    แทนรัฐมนตรี ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่คณะรัฐมนตรีจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
  • คณะรัฐมนตรีซึ่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหรือปลัดกระทรวงซึ่งร่วมกันปฏิบัติหน้าที่คณะรัฐมนตรี
    ตามวรรคหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็นแลถภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(๑) ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำร้องขอของคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วย
ความเรียบร้อย สุจริต และเที่ยงธรรม

(๒) ไม่กระทำการอันเป็นการใช้อำนาจแต่งตั้งหรือย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการ
ปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน รวมทั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน
หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

(๓) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

(๔) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป

(๕) ไม่ใช้หรือยอมให้ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง
และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

  • ให้ปลัดกระทรวงที่รักษาราชการแทนรัฐมนตรี เลือกปลัดกระทรวงที่รักษาราชการแทนรัฐมนตรีคนหนึ่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่
    นายกรัฐมนตรี และเลือกปลัดกระทรวงที่รักษาราชการแทนรัฐมนตรีอีกจำนวนสองคนเพื่อปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี
  • ให้การรักษาราชการแทนของปลัดกระทรวงมาตรานี้สิ้นสุดลงเมื่อคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่เข้ารับหน้าที่แล้ว

มาตรา ๑๗๕

  • ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ไม่ได้แสดงสำเนาแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ย้อนหลังเป็นเวลาสามปีต่อคณะกรรมการป้องกันและ
ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ปกปิดหรือแสดงหลักฐาน
ดังกล่าวอันเป็นเท็จ หรือจงใจเสียภาษีเงินได้โดยไม่ถูกต้อง เว้นแต่เป็นผู้ซึ่งไม่มีรายได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ให้ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี

(๔) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุด
หรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

(๕) สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจตามมาตรา ๑๖๐ หรือมาตรา ๑๖๑

(๖) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖๖

(๗) มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๗๖

(๘) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๒๓๔ มาตรา ๒๓๕ หรือมาตรา ๒๓๖

(๙) ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามมาตรา ๒๔๐

  • ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๙ และมาตรา ๑๐๐ มาใช้บังคับกับการสิ้นสุดขอความเป็นรัฐมนตรีตาม (๒) (๔) (๖)
    หรือ (๘) โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วย

มาตรา ๑๗๖

  • พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ

มาตรา ๑๗๗

  • ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ
    ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ
    พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
  • การตราพระราชกำหนดตามวรรคหนึ่ง
    ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้
  • ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป ให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า
    ถ้าอยู่นอกสมัยประชุมและการรอการเปิดสมัยประชุมสามัญจะเป็นการชักช้า คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการให้มี
    การเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชดำหนดโดยเร็ว
    ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติ หรือสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติแต่วุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการ
    อนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
    ให้พระราชกำหนดนั้นตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น
  • หากพระราชกำหนดตามวรรคหนึ่งมีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดและ
    พระราชกำหนดนั้นต้องตกไปตามวรรคสาม ให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีอยู่ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก
    มีผลใช้บังคับต่อไปนับแต่วันที่การไม่อนุมัติพระราชกำหนดนั้นมีผล
  • ถ้าสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติพระราชกำหนดนั้น หรือถ้าวุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยัน
    การอนุมัติด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
    ให้พระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป
  • การอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด ให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในกรณีที่ไม่อนุมัติ
    ให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
  • การพิจารณาพระราชกำหนดของสภาผู้แทนราษฎรและของวุฒิสภาในกรณียืนยันการอนุมัติพระราชกำหนด
    จะต้องกระทำในโอกาสแรกที่มีการประชุมสภานั้นๆ

มาตรา ๑๗๘

  • ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาจะได้อนุมัติพระราชกำหนดใดตามมาตรา ๑๗๗ วรรคสาม
    สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
    เท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่า
    พระราชกำหนดนั้นไม่เป็นไปตามมาตรา ๑๗๗ วรรคหนึ่ง และให้ประธานแห่งสภานั้นส่งความเห็นไปยัง
    ศาลรัฐธรรมนูญภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นเพื่อวินิจฉัย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว
    ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ส่งความเห็นนั้นมา
  • เมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาได้รับความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา
    ตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้รอการพิจารณาของพระราชกำหนดนั้นไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
  • ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดใดไม่เป็นไปตามมาตรา ๑๗๗ วรรคหนึ่ง
    ให้พระราชกำหนดนั้นไม่มีผลบังคับมาแต่ต้น
  • คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าพระราชกำหนดใดไม่เป็นไปตามมาตรา ๑๗๗ วรรคหนึ่ง
    ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด

มาตรา ๑๗๙

  • ในระหว่างสมัยประชุม ถ้ามีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งจะต้องได้รับ
    การพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน
    พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
  • พระราชกำหนดที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง จะต้องนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายในสามวันนับแต่วันถัดจาก
    วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๗๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๘๐

  • พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย

มาตรา ๑๘๑

  • พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึกตามลักษณะและ
    วิธีการตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก
  • ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นการรีบด่วน
    เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก

มาตรา ๑๘๒

  • พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงครามเมื่อได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
  • มติให้ความเห็นชอบของรัฐสภาต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
    เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
  • ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการให้ความเห็นชอบ
    ตามวรรคหนึ่ง และการลงมติต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

มาตรา ๑๘๓

  • พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก
    และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
  • หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย
    หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไป
    ตามหนังสือสัญญา หรือที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง
    หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
  • หนังสือสัญญาที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางหรือมีผลผูกพันด้านการค้า
    การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญตามวรรคสอง หมายถึงหนังสือสัญญาเกี่ยวกับการเปิดเสรีการค้า
    หรือเปิดเสรีการลงทุนภายใต้กรอบองค์การการค้าโลกหรือการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ หรือที่เกี่ยวกับการใช้
    หรือแบ่งสรรผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพย์สินทางปัญญาหรือการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามวรรคสอง
    คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับการ
    ทำหนังสือสัญญานั้น โดยให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาที่เป็นเนื้อหาสาระสำคัญอันจะนำไปสู่การจัดทำ
    หนังสือสัญญานั้นต่อคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย ในการนี้
    คณะกรรมาธิการดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิได้เป็นสมาชิกรัฐสภาด้วยและจะต้องพิจารณา
    ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว
  • เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาหรือจะเข้าทำหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน
    ในหนังสือสัญญาตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น
    และต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่
    วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว ในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน
    คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม
  • ให้มีกฎหมายว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาซึ่งครอบคลุมถึงการกำหนดประเภท กรอบการเจรจาขั้นตอน
    และวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาตามวรรคสอง รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตาม
    หนังสือสัญญาดังกล่าว โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ได้รับประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตาม
    หนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป
  • ในกรณีที่มีปัญหาตามวรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด โดยให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕๘
    มาใช้บังคับกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้

ู่

มาตรา ๑๘๔

  • พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ

มาตรา ๑๘๕

  • พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอานาจในการถอดถอนฐานันดรศักดิ์และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์

มาตรา ๑๘๖

  • พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า
    และทรงให้พ้นจากตำแหน่งหนึ่งเพื่อไปดำรงตำแหน่งอื่น เว้นแต่เป็นกรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่น
    ตามกฎหมายหรือเพราะความตาย ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทราบ

มาตรา ๑๘๗

  • เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นขององคมนตรี ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
    ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา
    ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดให้จ่ายได้ไม่ก่อนวันเก่ารับหน้าที่
  • บำเหน็จบำนาญหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นขององคมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่ง ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

มาตรา ๑๘๘

  • บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับ
    สนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้ และผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
    ย่อมต้องรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้น
  • บทกฎหมายที่ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วหรือถือเสมือนหนึ่งว่าได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
    ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยพลัน