Living in Thailand ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. .... แก้ไขครั้งล่าสุด August 31, 2015

       
  ตอนที่ ๓  
  สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย  
 
 

มาตรา ๔๖

  • ครอบครัวย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือจากรัฐให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นปึกแผ่นและเป็นสุข
    และมีสิทธิได้รับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่มีมาตรฐานที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงอาหาร เครื่องนุ่งห่ม
    และที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • มารดาย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษและได้รับสวัสดิการตามควรจากรัฐและนายจ้าง
    ก่อนและหลังการให้กำเนิดบุตร ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • เด็กและเยาวชนย่อมมีสิทธิในการอยู่รอดและได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาตามศักยภาพ
    ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รวมทั้งได้รับความคุ้มครองจากการแสวงหาประโยชน์ใดๆ ที่เป็นภัยต่อจิตใจ
    หรือสุขภาพหรือขัดขวางพัฒนาการตามปกติของเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และบุคคลในครอบครัว ย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากรัฐให้ปราศจากการ
    ใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม รวมทั้งมีสิทธิได้รับการบำบัดฟื้นฟูในกรณีที่มีเหตุดังกล่าว
  • การจำกัดสิทธิของเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และบุคคลในครอบครัว จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจ
    ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อสงวนและรักษาไว้ซึ่งสถานะและความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว
    เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน หรือเพื่อประโยชน์สูงสุดของบุคคลนั้น
  • เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการหรือทุพพลภาพ ย่อมมีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวก
    อันเป็นสาธารณะ และได้รับสวัสดิการและความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๔๗

  • บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและมีเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักร
  • การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะ
    เพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
    และสิ่งแวดล้อม การผังเมือง หรือเพื่อสวัสดิภาพของผู้เยาว์
  • การเนรเทศผู้มีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้

มาตรา ๔๘

  • เสรีภาพของสื่อมวลชนในการประกอบวิชาชีพตามจริยธรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
    ของประชาชนอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคม ย่อมได้รับความคุ้มครอง
  • การสั่งปิดกิจการสื่อมวลชนเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้
  • การห้ามสื่อมวลชนเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ
    เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
    เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง ข้อมูลส่วนบุคคล
    สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
    หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน
  • การให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในสื่อมวลชน จะกระทำมิได้
    เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม และจะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตาม
    บทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามวรรคสาม
  • เจ้าของกิจการสื่อมวลชนต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย และบุคคลไม่อาจเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชนหรือผู้ถือหุ้น
    ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หลายกิจการ ในลักษณะที่อาจมีผลเป็นการครอบงำหรือผูกขาดการนำเสนอ
    ข้อมูลข่าวสารหรือความคิดเห็นต่อสังคม หรือมีผลเป็นการขัดขวางการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
    หรือปิดกั้นการได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน มิได้ ไม่ว่าในนามของตนเอง
    หรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่น ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม
    ที่จะทำให้สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้น ในกิจการดังกล่าว
  • รัฐจะให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดเพื่ออุดหนุนกิจการสื่อมวลชนของเอกชน มิได้
    การซื้อโฆษณาหรือบริการอื่นจากสื่อมวลชนโดยรัฐ จะกระทำได้ก็แต่เฉพาะโดยอาศัยอำนาจตาม
    บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อการนั้น โดยให้เปิดเผยการจัดสรรงบประมาณให้แต่ละรายด้วย

มาตรา ๔๙

  • พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชน ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสาร
    และแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของรัฐหรือเจ้าของกิจการนั้น
    แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
  • ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน
    ย่อมมีเสรีภาพเช่นเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนตามวรรคหนึ่ง
  • การกระทำใดๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ
    หรือเจ้าของกิจการ อันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการเสนอข้อมูลข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็น
    สาธารณะของบุคคลตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้ถือว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ
    และไม่มีผลใช้บังคับ เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายหรือจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
  • ให้มีกฎหมายว่าด้วยองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งประกอบด้วยบุคคลในวิชาชีพสื่อมวลชนและผู้ทรงคุณวุฒิ
    ซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งผู้แทนองค์การเอกชนและผู้บริโภค เพื่อปกป้องเสรีภาพและความเป็นอิสระของ
    สื่อมวลชนตามมาตรา ๔๘ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ซึ่ง
    ได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพตามมาตรา ๔๘ และคุ้มครองสวัสดิภาพของบุคคลตามวรรคหนึ่ง และวรรคสอง

มาตรา ๕๐

  • คลื่นความถี่ที่ใช้ในการกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ กิจการวิทยุคมนาคม และกิจการโทรคมนาคม
    เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ
  • ให้มีองค์การของรัฐที่เป็นอิสระองค์การหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่งและกำกับการ
    ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม โดยต้องคำนึงถึงความมั่นคงของรัฐ
    ประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น คำนึงถึงบุคคลด้อยโอกาสทั้งในด้านการศึกษา
    วัฒนธรรม และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งต้องจัดให้ภาคประชาชนและชุมชนท้องถิ่นสามารถเข้าถึง
    และมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • การดำเนินการตามวรรคสองต้องให้ความสำคัญกับการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และการเก็บค่าธรรมเนียม
    หรือค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการดังกล่าว ต้องให้ความสำคัญกับการให้บริการที่ทั่วถึง ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ
    สามารถตรวจสอบได้ และให้ประชาชนโดยทั่วไปเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
  • ภายใต้บังคับหนังสือสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการเปิดเสรีทางการค้าหรือการลงทุนภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก
    หรือการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เจ้าของกิจการตามมาตรานี้ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย และต้องไม่ดำเนินการในลักษณะ
    ที่อาจมีผลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๘ ด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๕๑

  • เสรีภาพในทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง
  • การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง
    ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
  • การวิเคราะห์หรือวิจารณ์คำพิพากษา คำวินิจฉัย หรือคำสั่งของศาล และการเผยแพร่การวิเคราะห์
    หรือวิจารณ์ดังกล่าวที่ได้กระทำโดยสุจริตตามหลักวิชาการ ย่อมได้รับความคุ้มครอง

มาตรา ๕๒

  • บุคคลย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการรับการศึกษาที่มีคุณภาพและหลากหลายอย่างทั่วถึง
    เพื่อการพัฒนาตนเองที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ความถนัด และศักยภาพของแต่ละบุคคล
    ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยมศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ผู้ยากไร้ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่ง
    และการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น
  • รัฐมีหน้าที่ต้องจัดการศึกษาอบรมและส่งเสริมการจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน
    เพื่อให้ประชาชนเรียนรู้ตลอดชีวิต การศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง การศึกษาทางเลือก และการศึกษาประเภทอื่นที่หลากหลาย
    ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีศีลธรรม มีการพัฒนาจิตใจ และปัญญา

มาตรา ๕๓

  • บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
  • การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
    เฉพาะในกรณีการชุมนุมในที่สาธารณะและเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ
    ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ความปลอดภัยด้านการสาธารณสุข
    หรือการคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

มาตรา ๕๔

  • บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร
    องค์การภาคเอกชน องค์การภาคประชาสังคม หรือหมู่คณะอื่น
  • ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐย่อมมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มกัน
    แต่ต้องไม่กระทบต่อประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องในการให้บริการสาธารณะ
    ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
    เฉพาะเพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
    หรือเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาดในทางเศรษฐกิจ

มาตรา ๕๕

  • บุคคลย่อมมีสิทธิทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญนี้ และมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้ง พรรคการเมือง
    เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของพลเมือง และเพื่อดำเนินกิจกรรมในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์
    นั้นตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
    ี้

มาตรา ๕๖

  • บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการ อาชีพ หรือวิชาชีพ
  • การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
    เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้าน
    สาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ
    หรือวิชาชีพซึ่งต้องไม่ก่อให้เกิดการผูกขาดเกินความจำเป็น การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง
    การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาด
    หรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน
  • การเกณฑ์แรงงานจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการ
    ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาเป็นการฉุกเฉิน หรือโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งให้กระทำได้
    ในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือการรบ หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศ
    ใช้กฎอัยการศึก หรือเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำได้ตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลเพื่อประโยชน์ในการ
    กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิด

มาตรา ๕๗

  • บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม มีหลักประกันความปลอดภัย อาชีวอนามัย สวัสดิภาพ
    และสวัสดิการในการทำงาน ที่เหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งมีหลักประกันในการดำรงชีวิตทั้งในระหว่าง
    การทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๕๘

  • บุคคลย่อมมีสิทธิในด้านสาธารณสุขตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังต่อไปนี้

(๑) ดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพที่ดี

(๒) รับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน
และได้รับสิทธิประโยชน์ด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐานอันจำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน

(๓) ได้รับข้อมูลด้านสุขภาพที่ถูกต้องและทันสมัยจากรัฐ

  • บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขและผู้ให้บริการสาธารณสุขซึ่งได้รับความเสียหาย
    จากการปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ ย่อมได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสมจากรัฐ
    ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๕๙

  • บุคคลย่อมมีสิทธิเข้าถึงและได้รับบริการสาธารณะของรัฐที่จัดให้อย่างต่อเนื่อง ทั่วถึง และเท่าเทียมกัน
    โดยต้องมีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และทันสมัยอยู่เสมอ

มาตรา ๖๐

  • สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง
  • ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐ ประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค
    ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ
    ให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำ
    หรือการละเลยไม่กระทำการอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และเสนอทางแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ
    สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้และทักษะที่จำเป็นด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
    ตลอดจนดำเนินคดีที่เป็นประโยชน์สาธารณะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๖๑

  • บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในความครอบครองของรัฐ
    เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน
    หรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น หรือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๖๒

  • บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ และมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
    ในการปฏิบัติราชการทางปกครองอันมีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิหรือเสรีภาพของตน
    รวมทั้งได้รับแจ้งผลการพิจารณาในเวลาอันรวดเร็ว
  • บุคคลย่อมมีสิทธิฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดเนื่องจากกระทำหรือละเว้นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของ
    ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานนั้น
  • บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากรัฐ ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมใด
    ที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชน
    และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว
  • การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเวนคืน อสังหาริมทรัพย์ การผังเมือง
    การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน
    ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อนนำความคิดเห็นนั้นไปประกอบการพิจารณา

มาตรา ๖๓

  • ชุมชนย่อมมีสิทธิปกป้อง ฟื้นฟู อนุรักษ์ สืบสาน และพัฒนาขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ศิลปวัฒนธรรม
    และภูมิปัญญาอันดีงามของชุมชน ท้องถิ่น และของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา
    และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ
    และทางวัฒนธรรมอย่างสมดุลและยั่งยืน
  • บุคคลย่อมมีสิทธิร่วมกับชุมชนหรือร่วมกับรัฐในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ตลอดจนพัฒนาด้านต่างๆ
    ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน

มาตรา ๖๔

  • สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชน ในการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
    และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นธรรม และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
    เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่ดีและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ
    สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครอง
  • การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม
    ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพ
    สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน ซึ่งต้องกระทำโดยอิสระเป็นกลาง และตามหลักวิชาการ
    และในกรณีที่มีการประเมินสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกันด้วย
    ตลอดจนจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อน
    รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
    ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • สิทธิของบุคคลและชุมชนซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามมาตรานี้ที่จะฟ้องรัฐหรือ
    หน่วยงานของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง