Living in Thailand ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. .... แก้ไขครั้งล่าสุด August 31, 2015

  ส่วนที่ ๒    
  สิทธิและเสรีภาพของบุคคล  
 
 
  ตอนที่ ๑  
  บททั่วไป  
 
 

มาตรา ๓๐

  • ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย
    หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครอง และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล
    รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ โดยรวมในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย
    และการตีความกฎหมายทั้งปวง
  • การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนสิทธิและเสรีภาพ
    ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
    ี้

มาตรา ๓๑

  • สิทธิของบุคคลที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ ก่อให้เกิดหน้าที่แก่รัฐและหน่วยงานของรัฐ ในการดำเนินการให้สัมฤทธิผล
    ทั้งนี้ ให้รัฐดำเนินการดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามความสามารถทางการคลังของรัฐ

มาตรา ๓๒

  • บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ย่อมมีเสรีภาพที่จะกระทำการใด และย่อมใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้
    ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อกฎหมาย
    หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
  • บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
    เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้
  • บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้ได้โดยตรง ในกรณีที่การใช้สิทธิ
    หรือเสรีภาพในเรื่องใดมีกฎหมายบัญญัติรายละเอียดแห่งการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้แล้ว
    ให้การใช้สิทธิหรือเสรีภาพในเรื่องนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่หากเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองสิทธิหรือเสรีภาพ
    ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายดังกล่าว บุคคลก็ย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลได้โดยตรง
  • การตรากฎหมายเพื่อกำหนดการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลตามวรรคสาม จะกระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิหรือเสรีภาพ
    หรือเป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเกินสมควรตามหลักความได้สัดส่วนมิได้
  • รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครอง ส่งเสริม และช่วยเหลือให้การใช้สิทธิและเสรีภาพเป็นไปอย่างเหมาะสม

มาตรา ๓๓

  • การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตาม
    บทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น
    และจะกระทบกระเทือนสาระสาคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้
  • กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใด
    บุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย
  • บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสองให้นำมาใช้บังคับกับกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วย
    โดยอนุโลม

มาตรา ๓๔

  • บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย
    อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครองประเทศโดยวิธีการ
    ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้
  • ในกรณีบุคคล กลุ่มบุคคล หรือพรรคการเมืองใด กระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อม
    มีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดได้ แต่มิให้ถือว่าการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง
    ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของสมาชิกวุฒิสภา หรือขององค์กรอื่น เป็นการกระทำตามมาตรานี้ ในการนี้
    ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าวและสั่งการอื่นได้ ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้
    พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญอาจมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้นได้
    ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ
    แต่การใช้สิทธิเช่นว่านี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว